วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สปสช.จัดประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

27 ส.ค. 2013
173
Spread the love

สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 เชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 เชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณภาพเครือข่ายบริการภาคเหนือ ครั้งที่ 1 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้แนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง พร้อมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเครือข่ายทำให้เพิ่มศักยภาพให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นการยกย่องหน่วยบริการที่ได้มีผลการดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายที่ดี

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพลส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ ให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3 เขตภาคเหนือ (เขต 1 เชียงใหม่ เขต 2 พิษณุโลก และเขต 3 นครสวรรค์) และเครือข่ายหน่วยบริการผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 500 คน

โดยรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2505 จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 สิ้นสุดในปี 2554 สภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น อัตราการตายโดยเฉพาะที่เกิดจากโรคติดต่อ อนามัยมารดาและทารกลดลงเป็นลำดับ ส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญเปลี่ยนจากโรคติดต่อ เป็นโรคไม่ติดต่อ ที่เกิดจากภาวะเสื่อมถอยของการทำงานของร่างกาย และพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การบริโภคที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ตลอดจน การขาดการออกกำลังกาย พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้หากได้รับการแก้ไชปรับปรุงก็อาจสามารถป้องกันการเกิดโรคและลดความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง และบางสาเหตุสามารถรักษาให้หายหรือลดภาวะแทรกซ้อนของโรคลงได้หากได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

ดังนั้นทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ พัฒนามาตรฐานการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อ และรับกลับ นอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพและระบบการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และการดูแลรักษาต่อเนื่อง รวมถึงมีการบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน มีเครือข่ายบริการที่เชื่อมโยงงานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นเอกภาพ จนเกิดเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพที่สามารถให้บริการที่ซับซ้อน เชื่อมโยงแนวดิ่งแต่ละระดับตั้งแต่ปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ และเชื่อมโยงแนวราบระหว่างหน่วยงานทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคุ้มค่า

ด้าน นพ.วรชัย อึ้งอภินันท์ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ เผยว่า ในปี 2552 พบว่าการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูงยังพบปัญหาของระบบการส่งต่อบริการทั้งการส่งไปรักษายังหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่เหนือกว่าและส่งกลับไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อการดูแลต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นของแต่ละโรค และขาดการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ในการบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงระดับตติยภูมิ ในกลุ่มโรคโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มโรคมะเร็ง บริการทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การพัฒนาเครือข่ายบริการจิตเวช การพัฒนาเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า เครือข่ายบริการต่างๆมีการพัฒนากระบวนการและแนวทางดำเนินงานและผลลัพธ์ที่ดี บางเครือข่ายมีการขยายผลโดยการเผยแพร่สู่การพัฒนาที่ดีสู่องค์กรภายนอก

 

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ