วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนลุ้น ไอซอน ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์

Spread the love

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนลุ้น ไอซอน ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชวนคนไทยลุ้นดาวหางไอซอน มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พร้อมจัดกิจกรรม “ตามล่าดาวหางไอซอน” ณ จุดชมวิว ดอยสุเทพ ช่วงเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 นี้

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2556) เวลา 10.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 จะปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่หาชมยาก คือ ดาวหางไอซอน ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 กิโลเมตร โคจรพุ่งเฉียดดวงอาทิตย์ที่ระยะ 1.2 ล้านกิโลเมตร (ใกล้ยิ่งกว่า
ดาวพุธ ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ระยะ 45 ล้านกิโลเมตร) โดยดาวหางไอซอน จะเข้าใกล้ที่สุด
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 จากนั้นจะเหวี่ยงตัวออกจากระบบสุริยะ ช่วงก่อนเฉียด(15-25 พฤศจิกายน) และหลังเฉียด (3-15 ธันวาคม) จึงเหมาะแก่การสังเกตดาวหางไซออน ในเวลาเช้ามืด ทางทิศตะวันออก
โดยสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรม “ตามล่าดาวหางไอซอน” สำหรับผู้ที่สนใจ ในเช้ามืดวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 เวลา 4.00 -6.30 น. ณ จุดชมวิว ดอยสุเทพ ซึ่งนอกจากดาวหางไอซอนแล้ว ยังมีดาวหางสว่างอีก 3 ดวง
ที่อาจสังเกตเห็นได้ คือ ดาวหางเลิฟจอย ดาวหางลีเนีย และดาวหางเองเค โดยทางสถาบันฯ ได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ไว้จำนวนมาก พร้อมผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้การสังเกตวัตถุท้องฟ้าและความรู้เรื่องดาวหาง จึงขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ดาวหางไอซอน ถูกค้นพบโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวเบลารุสและชาวรัสเซียภายใต้โครงการ
ไอซอน เมื่อปี พ.ศ.2555 ดาวหางไอซอน ประกอบขึ้นจากน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และมีเทน
ซึ่งระเหิดง่าย เมื่อโคจรใกล้ดวงอาทิตย์จึงเกิดเป็นหางยาวให้เห็น การสังเกตดาวหางให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ขยาย 20-30เท่า หรือใช้กล้องสองตา ขยาย 7 เท่าก็พอมองเห็นได้สวยงาม โดยทางสถาบันฯ ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของดาวหางไอซอนมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพบว่าดาวหางดวงนี้
มีพัฒนาการของความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ดาวหางไอซอน
มีการประทุของก๊าซออกมา ส่งผลให้ความสว่างเพิ่มขึ้น ค่าความสว่างปรากฏวัดได้ที่ระดับแมกนิจูด 5.5 มีหาง
ที่สองปรากฏขึ้น และส่วนหัวของดาวหางยังมีความสว่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมลุ้นไปพร้อมๆกันกับนักดาราศาสตร์ทั่วโลกว่าดาวหางไอซอนจะสว่างพอที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ ก่อนที่จะโคจรเข้าสู่จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 นี้

……………………………….…………………………………………………….……………………………………………………………………………………

อนุชา นาคฤทธิ์ /ปิยพร โอภาสเจริญวิทย์                                             วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

CNXNEWS รายงาน


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา”

14 ม.ค. 2013
336
Spread the love

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวการเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา”

 

เมื่อวัน ที่ 11 มกราคม 2555 เวลา 18.00 น. ณ ลานโปรโมชั่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดแถลงข่าว เปิดตัว “หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และดร.ศรัณย์ โปษยะจินดารองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 22 มกราคม 2556 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม. 44.4 อำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งหอดูดาวแห่งนี้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ และยังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการของชาติ ซึ่งเป็นที่สำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของประเทศ การเปิดหอดูดาวครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่เรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในระดับมาตรฐานของโลก ทั้งยังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม กล่าวต่ออีกว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ สนับสนุนการจัดการศึกษาและงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ฝึกอบรมดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่สำคัญที่สุด คือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนของชาติให้มีใจรักวิทยาศาสตร์ อันเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของสถาบันฯ”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดารองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงข้อมูลเชิงปฏิบัติการและเทคโนโลยีของหอดูดาวฯ ว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกรียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง2.4 เมตรด้วยระบบอัลตะซิมุท (Altazimuth System) สามารถเล็งและติดตามวัตถุท้องฟ้าได้แม่นยำ ส่วนการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้จากระยะไกล ที่ตั้งอยู่บนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง2,457 เมตรทัศนวิสัยเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สามารถทำวิจัยได้มากกว่า 200 คืนต่อปี ทั้งยังโดดเด่นกว่าทำเลของหอดูดาวเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นจุดสังเกตการณ์ทั้งซีกฟ้าเหนือ และซีกฟ้าใต้ได้ตลอดทั้งปี”

 

สำนักข่าว 
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน