ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข มช. สรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากผู้พิการและผู้สูงอายุภาวะพึ่งพาแบบบูรณาการ

Spread the love

 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข มช. สรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากผู้พิการและผู้สูงอายุภาวะพึ่งพาแบบบูรณาการ

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เมษายน 2561 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พัชราวรรณ ศรีศิลปนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพช่องปากผู้พิการและผู้สูงอายุภาวะพึ่งพาแบบบูรณาการ โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากผู้พิการและผู้สูงอายุภาวะพึ่งพาแบบบูรณาการ เพิ่มสมรรถนะบุคลากรทุกภาคส่วนในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้พิการและผู้สูงอายุภาวะพึ่งพาแบบบูรณาการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะหรือ (สสส.) ระยะเวลา 18 เดือน และจะสิ้นสุดโครงการปลายเดือนเมษายน 2561

 

โดยโครงการนี้มีแนวคิดการดำเนินงานแบบบูรณาการหลายวิชาชีพ ทั้งทันตแพทย์ แพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาล นักจิตวิทยา.นักพัฒนาสังคมจากหลายสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งฝ่ายผู้ผลิตทันตบุคลากรในระดับมหาวิทยาลัย ฝ่ายผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งในเครือข่ายในการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของระบบบริการสาธารณสุข

 


ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข จัดประกวดสื่อสร้างสรรค์ เพื่อคนพิการ

Spread the love

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข จัดประกวดสื่อสร้างสรรค์ เพื่อคนพิการ

ข่าว

 

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ของ “โครงการหมอฟันธรรมดาเพื่อคนพิเศษ” ซึ่งได้รับงบประมาณการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และได้เริ่มโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2557 และจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2558 นี้ และได้ประกาศผลการรับรางวัลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดย รศ.ทพญ.ดร.พัชราวรรณ ศรีศิลปนันท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทันตสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

จากข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ณ เดือนมกราคม 2514 พบว่า มีจำนวนของคนพิการที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลกว่า 1.4 ล้านคน ในภูมิภาคต่างๆ โดยภาคที่มีจำนวน คนพิการมากที่สุดได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตามลำดับ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับคือ ความเท่าเทียมกัน ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และได้มีการกำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555 – 2559 อันเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงาน ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนพิการดำรงชีวิตอิสระร่วมกับทุกคนอย่างมีความสุข สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน” ซึ่งการจะสร้างความตระหนักต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการให้อยู่ร่วมในสังคมได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ และการช่วยเหลือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาพของคนพิการ  ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างมีคุณภาพสำหรับคนพิการ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพกายของคนพิการโดยตรง เช่น ลดโรคและการติดเชื้อในช่องปากที่มีความเจ็บปวด ไม่สบายด้วย หรือ ภาวะขาดสารอาหารเนื่องรับทานอาหารไม่ได้เท่าที่ควร ยังจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจในกับคนพิการในการที่จะออกสู่สังคมและพูดจาสื่อสารกับคนทั่วไปอีกด้วย อันเป็นผลต่อสุขภาพใจและจิตวิญญาณของคนพิการ ตลอดจนสุขภาวะของสังคมด้วย ดังนั้นบุคลากรทางทันตศาสตร์ ทุกระดับจึงควรที่จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากของคนพิการอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้แก่สังคมทั่วไป สังคมรอบตัวคนพิการ และรวมถึงตัวผู้พิการ ให้เข้าใจและรู้ถึงวิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งหากมีความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้ว จะช่วยให้สุขภาพองค์รวมของคนพิการดียิ่งขึ้น

จึงได้เกิดโครงการการประกวดสื่อสร้างสรรค์ เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพช่องปากคนพิการ ขึ้นโดยเน้นการปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ และการช่วยเหลือสังคมให้เกิดขึ้นแก่นักศึกษาทันตแพทย์ ของไทยด้วยจุดเริ่มต้นจาก การนำความรู้ มาพัฒนาเป็นสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึง และสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ตระหนักต่อการดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งความสุข ที่ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกันได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี ต่ออนาคตทันตแพทย์ของชาติ อีกด้วย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ และการช่วยเหลือสังคมให้เกิดขึ้นแก่นักศึกษาทันตแพทย์ ในประเทศไทย
  2. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ที่ผลิตทันตแพทย์ ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักต่อการดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการ
  3. เพื่อให้นักศึกษาทันตแพทย์ ได้นำวิชาความรู้ มาบูรณาการผลิตเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึง และสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ตระหนักต่อการดูแลสุขภาพช่องปากคนพิการได้อย่างเหมาะสม

การดำเนินการ

  1. จัดทำกติกาการประกวดและเวลาในการส่งผลงาน
  2. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการในรูปแบบ โปสเตอร์ขนาด A3 และการประชาสัมพันธ์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตไปยังกลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาทันตแพทย์ ทุกสถาบันในประเทศไทย
  3. เปิดรับสมัคร และเปิดให้ส่งผลงานเข้าประกวด
  4. คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ ดำเนินการตัดสินผู้ชนะ
  5. มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด

รูปแบบการประกวดสื่อฯ  

  1. การส่งสื่อสร้างสรรค์เข้าประกวด จะต้องส่งเป็นทีม โดย 1 ทีมจะต้องมีสมาชิก 3-5 คน สามารถมีสมาชิกที่ไม่ใช่นักศึกษาทันตแพทย์ได้ 1 คน และต้องเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ที่เรียนอยู่ในสถาบันต่างๆ โดยสมาชิก 1 ทีม สามารถมีสมาชิกที่อยู่ต่างสถาบันร่วมทีมได้
  2. ทีมที่ส่งเข้าประกวดต้องผลิตสื่อมัลติมีเดียความยาวไม่เกิน 3 นาที โดยไม่จำกัดความคิด และไม่จำกัดเทคนิค พร้อมแนบรายละเอียดที่มา และแรงบันดาลใจในการผลิตผลงาน ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 (ขนาดตัวหนังสือ ขนาด 16 แบบอักษร Angsana New ระยะบรรทัด 1)หมายเหตุ การตัดสินผลงานจะพิจารณาผลงาน ควบคู่กับ รายละเอียด)
  3. 1 ทีมสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 3 ชิ้น สถาบันการศึกษาสามารถส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวนทีม
  4. การส่งผลงาน จะส่งผลงานผ่านทางอินเตอร์เน็ต ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ
  5. การตัดสินจะพิจารณาจากคะแนนโหวตและการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิถือเป็นที่สิ้นสุด
  6. ผลงานที่ชนะเลิศ จะได้รับการคัดเลือกไปผลิตเป็นสื่อที่จะให้ในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพช่องปากคนพิการ โดยจะได้รับการเกียรติ พิมพ์ชื่อ ทีมที่ชนะ บนสื่อดังกล่าว

 

รางวัลที่ได้รับ

รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1

  • โล่ประกาศเกียรติคุณ “ชนะเลิศอันดับที่ 1 สื่อสร้างสรรค์ฯ”
  • เงินรางวัล  10,000 บาท

รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2

  • โล่ประกาศเกียรติคุณ “ชนะเลิศอันดับที่ 2 สื่อสร้างสรรค์ฯ”
  • เงินรางวัล  8,000 บาท

รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3

  • ประกาศเกียรติคุณ “ชนะเลิศอันดับที่ 3 สื่อสร้างสรรค์ฯ”
  • เงินรางวัล  5,000 บาท

รางวัลชมเชย

  • ประกาศนียบัตร “สื่อสร้างสรรค์ฯ”
  • เงินรางวัล  3,000 บาท

รางวัลชมเชย

  • ประกาศนียบัตร “สื่อสร้างสรรค์ฯ”
  • เงินรางวัล  3,000 บาท

 

 

ลิ้งค์ข่าวที่เกี่ยวข้องค่ะ

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ