วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ว่าด้วยไลฟ์สไตล์คนเมืองลอดช่อง

09 มี.ค. 2015
212
Spread the love

รายงานพิเศษจากสิงคโปร์ ว่าด้วยไลฟ์สไตล์คนเมืองลอดช่อง

ลอดช่อง

        ผมเป็นสมาชิกของ EXIM NEWS นานปีเศษแล้ว  ทุกๆเดือนเขาจะสรุปรายงานภาวะการณ์ต่างๆของ10(บวก) ประเทศในอาเซี่ยนมาให้ผม รายงานนี้เป็นของเดือนมกราคม 2558 เนื้อหาของรายงานคือ ชี้ช่องให้ผู้ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิต   ผลิตภัณท์ต่างๆเพื่อสุขภาพ ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ (โดยเฉพาะสิงคโปร์)ได้รู้จักช่องทางการตลาด  โดยประมวลเอาไลฟ์สไตล์ หรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั่นมาเพื่อให้ศึกษาประกอบการตัดสินใจ

          ผมเห็นว่าเนื้อหามีประโยชน์มาก แม้ท่านจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการไม่ได้ส่งออก แต่จะได้ความรู้รอบตัวซึ่งสามาราถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราๆท่านๆ ได้ไม่มากก็น้อย  เชิญติดตามเลยครับ

            ตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์       

กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงถือเป็นเป้าหมายหลักของผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ   ซึ่งผู้บริโภคในสิงคโปร์ถือได้ว่ามีฐานะตรงกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ด้วยระดับรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Disposable Income) สูงถึงราว 2.4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

            อันนี้ขอย้ำว่า สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย (5.6 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) และไทย (ราว 3.8 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี)

นอกจากนี้ ปัจจุบันคู่สมรสสมัยใหม่ชาวสิงคโปร์นิยมทำงานทั้งคู่ ทำให้รายไดของครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ (Double-Income)   แตกต่างจากในบางประเทศที่สามีเป็นผู้ทำงานเพียงคนเดียว ขณะทีภรรยาทำหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัวเท่านั้น ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์มีผู้สนใจเข้ามาเจาะตลาดระยะหนึ่งแล้ว แต่ด้วยศักยภาพของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ทำให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังเป็นตลาดที่น่าสนใจติดตามถึงสถานการณ์และแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

              ปัจจัยผลักดันความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

มีรายงานว่าชาวสิงคโปร์เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งจากลักษณะความเป็นอยู่แบบคนเมืองของชาวสิงคโปร์ซึ่งมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ทำให้มีเวลาสำหรับการออกกำลังกายน้อยลง รวมถึงฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นของคู่สมรสที่ต่างก็มีรายได้ทั้งคู่ ทำให้นิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน นอกจากนี้ การที่ผู้ปกครองชาวสิงคโปร์มีเวลาพาบุตรหลานไปทำกิจกรรมนอกบ้านค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลให้ชาวสิงคโปร์มีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลสำรวจด้านสุขภาพล่าสุด (ปี 2553) ของสิงคโปร์พบว่า ราว 1 ใน 10 ของชาวสิงคโปร์เป็นโรคอ้วน แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ มาเลเซียมีอัตราส่วน

ประชากรที่เป็นโรคอ้วนร้อยละ 24 อินเดียมีสัดส่วนร้อยละ 17 และกลุ่มประเทศ OECD มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 17 แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงให้ความสำคัญและมีมาตรการออกมาแก้ปัญหา

อาทิ การควบคุมเนื้อหาโฆษณาของอาหารและเครื่องดื่มต่อกลุ่มเยาวชน ทำให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก เช่น Coca-Cola, Ferrero, Mars, McDonald’s, Nestleและ Unilever ทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้บริโภคกลุ่มเยาวชนได้เฉพาะที่ผ่านมาตรฐานด้านสุขภาพของสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวก็ตอบสนองด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดปริมาณสารบางประเภทเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ น้ำตาล ไขมัน และคาร์โบโฮเดรต นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังริเริ่มหลายโครงการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ โครงการ Healthy Workplace ซึ่งร้านอาหารในสถานที่ทำงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจำหน่าย เป็นต้น

  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2556 สิงคโปร์มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งการที่สัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าร้อยละ 10 ถือได้ว่าประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มประชากรสูงอายุมักให้ความสำคัญกับอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มประเภทที่มีการเพิ่มสารอื่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Fortified/Functional Food) เช่น เครื่องดื่มผสมคอลลาเจนและวิตามินซึ่งช่วยป้องกันริ้วรอยก่อนวัย
  • ค่านิยมการมีบุตรน้อยของชาวสิงคโปร์ ทำให้พ่อแม่ชาวสิงคโปร์ใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าให้ลูกค่อนข้างมาก รวมถึงการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งแม้ว่ามีราคาแพง แต่ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก อาทิ อาหารอินทรีย์สำหรับทารก
  • การพึ่งพาอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตแบบคนเมืองที่เร่งรีบและมีขนาดครอบครัวที่เล็กลง ทำให้ชาว  สิงคโปร์สมัยใหม่ต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริโภคอาหารสำเร็จรูปปริมาณมากไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปบางชนิดผสมสารกันบูดและสารสังเคราะห์ รวมถึงมีคุณค่าสารอาหารน้อยกว่าที่ได้จากการบริโภคอาหารปรุงสด ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโอกาสทางการตลาดของผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในการวางตลาดอาหารสำเร็จรูปที่ใส่ใจต่อสุขภาพ อาทิ การไม่ใช้สารกันบูด การไม่ใช้สีและกลิ่นสังเคราะห์ การไม่ใส่ผงชูรส และการลดปริมาณเกลือและน้ำตาล รวมถึงอาหารประเภท Fortified/Functional Food ที่มีการผสมสารอาหารที่มีประโยชน์

ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีในตลาดสิงคโปร์ที่ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพ

           สถานการณ์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์          และส่วนแบ่งตลาดตามประเภทสินค้าในปี 2556       

  • ประเภทของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

– Fortified/Functional : อาหารและเครื่องดื่มที่มีการเพิ่มสารอื่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ คอลลาเจน และ วิตามิน เป็นต้น

– Naturally Healthy : อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ ขนมที่มีเส้นใยสูง  น้ำมันมะกอก นมถั่วเหลือง และขนมทำจากผลไม้ เป็นต้น

– Better for You : อาหารและเครื่องดื่มที่ลดปริมาณสารบางประเภทเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ น้ำตาล   เกลือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารกันบูด เป็นต้น

– Food Intolerance : อาหารและเครื่องดื่มที่มีการสกัดสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออก อาทิ กลูเตน และแลคโตส เป็นต้น

– Organic : อาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ ซึ่งปราศจากการใช้สารเคมีตลอดกระบวนการ            

              สถานการณ์ตลาด

– ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของสิงคโปร์ในปี 2556 ยังขยายตัวดี แม้ชะลอการขยายตัวเหลือร้อยละ 4.9 ลดลงจากร้อยละ 5.7 ในปี 2555 เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เริ่มได้รับความนิยมในตลาดสิงคโปร์มาแล้วระยะหนึ่ง

จนเริ่มเกิดภาวะอิ่มตัวของตลาด และถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยบริษัทที่เป็นผู้นำตลาด คือ Malaysia  Diary Industries ตามมาด้วยบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น Nestle Yakult และ Abbott ทั้งนี้ ช่องทางกระจายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่สำคัญของสิงคโปร์ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต

– อาหารและเครื่องดื่มประเภท Fortified/Functional ครองส่วนแบ่งตลาดถึงราวร้อยละ 60 ของตลาด

อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมสำหรับเด็กที่มีการเพิ่มวิตามิน  และสารอาหารอื่น และโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องดื่ม Soft Drink ก็เป็นสินค้าสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น  น้ำผลไม้ที่เพิ่มวิตามิน และเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เป็นต้น

– อาหารและเครื่องดื่มประเภท Food Intolerance เป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ  9.6 ในช่วงปี 2552-2556 สูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทอื่น โดยมีสินค้าหลัก   คือ อาหารเด็กและทารก เช่น นมถั่วเหลือง และนมสกัดสารแลคโตส

 แนวโน้มตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์

ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากเป็นสินค้าที่เจาะตลาดสิงคโปร์มาแล้วระยะหนึ่ง จนตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยคาดว่าอาหารและเครื่องดื่มประเภท  Fortified/Functional ที่เพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูก ข้อต่อ และการย่อยอาหาร จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย แต่เป็นตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว และ ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสสูงในการส่งออกไปสิงคโปร์

            ผมหวังว่ารายงานนี้คงเป็นประโยชน์ต่อท่านนะครับ

 

         อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ