วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

ว่าด้วยเรื่องของ ” บิ๊กไบค์ “

19 มิ.ย. 2015
403
Spread the love

ว่าด้วยเรื่องของ ” บิ๊กไบค์ “

ของเล่นใหม่ของ  นักซิ่งเงินหนา

bigbike-2

 

          คุณผู้อ่านครับ เคยสังเกตุหรือไม่ว่าตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา มีข่าวที่เกี่ยวพันกับรถจักรยานยนต์ขนาดกลางถึงใหญ่บ่อยขึ้นและในเนื้อข่าวนั้นจะเน้นไปที่คำว่า”บิ๊กไบค์”

                      ครับ”บิ๊กไบค์”คือ รถจักรยานยนต์ขนาดกลางถึงใหญ่ทางฝั่งเอเซียยีห้อที่คุ้นหูก็มีหลายเจ้า  เช่น คาวาซากิ ฮอนด้า ยามาฮ่า ทางฝั่งยุโรป ก็มี นอร์ตัน ดูคาตี้ ไทรอัมพ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลกก็ไม่ใช่ใคร นั่นเลย ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน

จากการติดตามข่าวทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ปัจจุบันด้วยสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกหรือเมืองไทย ส่งผลให้รสนิยมของคนขี่จักรยานยนต์มุ่งไปที่ รถขนาดกลาง ถึงใหญ่ หรือ บิ๊กไบค์ มากขึ้น

     ลองอ่านข่าวนี่ก่อน ผมได้ข่าวนี้มาจาก น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจครับ

เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ตลาดรถจักรยานยนต์” กำลังเข้าสู่ยุคตลาดอิ่มตัว เข้าไปทุกขณะ ได้เห็นภาพชัดเจนหลังปี 2554 ตลาดพุ่งไปแตะที่ 2.13 ล้านคัน และมาเติบโตสูงสุดในปี 2555 ถือเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ จากยอดขายรวม 2.25 ล้านคัน จากนั้นยอดขายเริ่มลดระดับลงต่อเนื่อง โดยในปี2556 ตลาดรถจักรยานยนต์ติดลบถึง 5.9 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ภาวะตลาดเริ่มอิ่มตัวและปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเปลี่ยน “โครงสร้างตลาด” รถจักรยานยนต์ในประเทศอย่างเห็นได้ชัด  แหล่งข่าวในวงการรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูตลาดจักรยานยนต์ในปี 2548 หรือราว 10 ปีก่อน จะพบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาด จากอัตราการขยายตัวที่ลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ก่อนที่ตลาดจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันจำนวนรถจักรยานยนต์ต่อจำนวนประชากร 1 คันต่อ 3-4 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จากเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ที่จำนวนรถจักรยานยนต์ยังต่ำคือ 1 คัน ต่อประชากร 8 คน นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ยังระบุว่า ในเดือน ส.ค. 2557 มีจักรยานยนต์วิ่งในถนนมี 20.2 ล้านคัน ทำสถิติสูงสุดเป็นครั้งแรก โดยรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ 80% อยู่ในต่างจังหวัด

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (ระบบคาร์บูเรเตอร์ มาเป็นระบบหัวฉีดไฟฟ้า) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต โดยสร้างรถในเซ็กเมนท์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์เปลี่ยนไปโดยพบว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ที่เคยพึ่งพาเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 125 cc เป็นหลัก กำลังจะถึงจุดที่ไม่สามารถขยายตัวได้อีก เนื่องจากผู้ผลิตหันไปผลิตจักรยานยนต์ขนาดเกิน 125 cc (รถขนาดกลางและขนาดใหญ่) ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์คึกคักขึ้นอีกครั้ง

“รถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ออโตเมติกหรือเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งอดีตมีรุ่นฟิโน่ ของยามาฮ่าเป็นผู้นำ ถือเป็นช่วงที่สร้างสีสันให้กับตลาด แต่หลังจากหลายค่ายเริ่มทำตลาดจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก ทำให้ตลาดเริ่มอิ่มตัว ต้องสร้างรถกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น รถสกู๊ตเตอร์ เครื่องยนต์ 150 cc โดยฮอนด้า รถจักรยานยนต์สปอร์ต 150 cc -300 cc ที่มีค่ายรถใหญ่ สองค่ายหลักเริ่มทำตลาดคือ ฮอนด้า และยามาฮ่า แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของโครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป อดีตที่รถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวแบบปกติจะครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 85%

ในข่าวเขาบอกอีกว่า เรื่องนี้คุณโนบุฮิเดะ นางาตะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในไทย มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย กล่าวว่า ปี 2556 ตลาดรถขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการขายรวม 1 หมื่นคัน แม้อัตราการขายจะไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณรถทั่วไป แต่ถือว่าการเติบโตมากกว่าเท่าตัว โดยการเติบโตของรถกลุ่มนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554

“ถ้าตลาดยังเติบโตในระดับนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต น่าจะทำให้ตลาดมีปริมาณรวมเกิน 2 หมื่นคันต่อปี แต่การที่จะรักษาการเติบโตเช่นนี้ เป็นเรื่องยากเพราะมีตัวแปรหลายด้าน ดังนั้นตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 1.5-1.7 หมื่นคัน ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ ไม่มีตลาดไหนจะเป็นขาขึ้นตลอดไป ” คุณนางาตะ กล่าว และเสริมอีกว่าปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตสูง

  เขาบอกน่าคิดว่า น่าจะเกิดจากรายได้ประชากรที่มีมากขึ้น

         โดยรถจักรยานยนต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ สัดส่วนการขาย 90% เป็นรถขนาดใหญ่ที่ผลิตในประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นรถนำเข้า

ส่วน คุณสุชาติ อรุณแสงโรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาการเมืองแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้ ตลาดเติบโตขึ้นราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนแนวโน้มประเมินว่า ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ตลอดทั้งปีนี้น่าจะแตะถึงระดับ 1.5 หมื่นคัน หรือเติบโตราว 15% สำหรับฮอนด้า น่าจะมียอดจดทะเบียนราวๆ 4,500 คัน หรือเติบโตขึ้น 65%

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ประกาศลงทุน 500 ล้านบาท หลังจากที่ซูซูกิ ได้เริ่มทำตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (ซูเปอร์ไบค์ ) เซ็กเมนท์ใหม่รองรับการชะลอตัวของตลาดรถจักรยานยนต์มาตั้งแต่ปี 2552 โดยช่วงเริ่มต้นซูซูกิแนะนำรถใหม่ ในกลุ่มไฮเอนด์อย่าง เช่น รุ่นฮายาบูสะ และรถสปอร์ต GSX-R 750 ต่อมาเริ่มนำเข้ารถอื่นๆ เช่น กาดิอุส Gladius 650หลังจากประกาศแผนการลงทุน ซูซูกิเริ่มมองที่ตลาดรถขนาดกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มเริ่มต้นสำหรับคนที่จะก้าวไปเป็นลูกค้าจักรยานยนต์ไฮเอนด์

“เรามีแผนการลงทุนแต่การเจรจาไปไม่ถึงจุดสุดท้าย แต่รถที่จะผลิตในไทยจะมีขนาดตั้งแต่ 200 cc ขึ้นไปจนถึง 600-750 cc การผลิตรถขนาดกลาง ขนาดใหญ่ต้องใช้เทคโนโลยี สูงกว่ารถเล็กต้องเตรียมคนและเตรียมการอบรมให้พร้อม”

คุณซาโตชิ อูชิดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด เคยให้ข้อสังเกตว่า เมื่อพูดถึงจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ ต้องมีขนาด 1,000 cc ขึ้นไป การพูดถึงขอบเขตว่ารถไหนเป็นรถบิ๊กไบค์ในไทย ยังมีความสับสนอยู่ ดังนั้นหากบอกว่า ขนาดตลาดบิ๊กไบค์ (1,000 cc) ในไทยจะมีขนาดตลาดไม่ถึง 1,000 คัน และซูซูกิน่าจะขายประมาณ 100 คัน ส่วนจักรยานยนต์ตลาดขนาดกลาง ปีนี้ตลาดรวมคาดว่ามียอดขาย 1.5 หมื่นคัน จากปีก่อนที่มียอด 1.2 หมื่นคัน จากนี้ไปจะเริ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้จะเห็นค่อยข้างเด่นชัดที่เติบโตจากปีก่อน….ซาโตชิ ซัง พยากรณ์

สำหรับค่ายรถ ที่คาดว่าจะมีบทบาทในตลาดใหม่ นั่นคือ ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ ผู้นำตลาดเบอร์ 2 หลังจากที่สร้างความฮือฮาจาก การเปิดตัวรุ่นฟิโน่ ล่าสุด ยามาฮ่า ได้มองทิศทางของตลาดใหม่โดยเน้นเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นหลัก ไทยยามาฮ่า ได้เปิดตลาดใหม่คือ สปอร์ตไบค์ ขนาดเล็กโดยแนะนำรุ่น YZF-R15 ปี2557 ขายในราคา 85,000 บาท และรถจักรยานยนต์ 3 ล้อ รุ่น ยามาฮ่า ทริซิตี้ ซึ่งเป็น Global Model ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

และ ค่าย ยามาฮ่า พยายามจะพลิกเกมสำหรับการคืนสู่รถอีกครั้งหลักจากยอดชะลอตัวไปมากจากการเปลี่ยนแนวทางการตลาดของผู้นำเบอร์ 1 อย่างฮอนด้า ทิศทางของยามาฮ่ามุ่งสู่รถสปอร์ต และจะเน้นเรื่องนวัตกรรมอย่างรถ 3 ล้อ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ ยามาฮ่าจะใช้ไทยแนะนำรถจักรยานยนต์ สปอร์ต ระดับโลกรุ่น R 1 โฉมใหม่โดยจัดกิจกรรมใหญ่และนำเอาแชมป์โลก โมโตจีพี เข้ามาร่วมงานพร้อมกับการขับโชว์ในสนามแข่งรถซีไอซี บุรีรัมย์ ด้วย

      มาถึงบทสรุปของเรื่องนี้ มีประเด็นหลักๆที่จะบอกว่า ปัจจุบันมีคนหันมาขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กไบค์” กันมากขึ้น เพราะสภาพถนนหนทางมันเปลี่ยนไป มันกว้าง มันใหญ่ มันมาตรฐาน การคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภาคกับภาค ระหว่างจังหวัดกับจังหวัดมันถึงกันมากขึ้น การไปมาหาสู่ การไปท่องเที่ยว คนจำนวนมากนิยมเอารถไปเอง รถครอบครัวที่นิยมขี่กันอยู่สมรรถนะไม่ถึงรถขนาดใหญ่ จึงมีผู้หันมาขี่รถขนาดใหญ่มากขึ้นเป็นลำดับและเดินทางกันมากขึ้น เราพบเห็นบ่อยขึ้น  แต่ก่อนก็จำกัดกันในวงแคบๆ เพราะรถขนาดใหญ่มากๆเรายังต้องนำเข้า ราคาค่อนข้างสูง หลักหลายๆหมื่นขึ้นไปจนถึงหลายๆแสน และถึงล้านบาทสำหรับ ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน และต้องใช้เงินสด     บริษัทลิซซิ่งยังไม่ให้ความสำคัญกับตลาดนี้ต้องมีเงินมากจริงๆจึงจะซื้อได้ แต่ล่าสุด มีข่าวว่าเกิดความเคลื่อนไหวกันในหมู่ลิซซิ่งที่ยอมรับและให้สินเชื่อกับรถพวกนี้แล้ว  จึงเป็นรงผลักดันและจูงใจที่สำคัญที่จะทำให้นักเลงรถขนาดใหญ่ หันมาใช้รถ”บิ๊กไบค์”กันมากขึ้น   อย่าง แม่หลวงกุ้ง แม่หลวงคนสวยที่สุดในประเทศ พอลาออกจากตำแหน่งก็ขี่บิ๊กไบค์โฉบไปโฉบมา

           แม้กระทั่งคุณเนวิน ชิดชอบ นักการเมืองคนดังของบ้านเรา  เมื่อวันก่อนยังขี่ ดูคาตี้ จากบุรีรัมย์พร้อมกับพรรคพวกอีกหลายคันเข้ากรุงเทพฯเลย ลองไปหาข่าวเก่าๆมาอ่าน เพราะดูเหมือนว่า ขี่ยังไงไม่ทราบ โดนตำรวจจับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลของกรุงเทพธุรกิจ

อรุณ ช้างขวัญยืน.เรียบเรียงและรายงาน

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ