วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

วิกฤติชีวิต…คนไทย..ต้องรอดตาย เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุก รพ.

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

วิกฤติชีวิต…คนไทย..ต้องรอดตาย เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุก รพ.

 

        ท่านผู้อ่านครับ ระยะนี้มีเรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันมากคือ การเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินป่วยแล้วไปรักษาทีไหน คนจน ต้องไปโรงพยาบาลของรัฐฯ ถ้าอยู่ไกล ไปไม่ทันก็ไม่รอด จะเข้าโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆใกล้บ้านก็ไม่มีเงิน โรงพยาบาลเอกชนไม่รับถ้าไม่วางเงินค่ารักษา ถ้าไม่มีก็ ไล่ให้ไปที่อื่น สุดท้าย ตาย  วันนี้ มีความกระจ่าง เพราะกระทรวงสาธารณสุข กับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เอาจริง จับเขาประชุมปรึกษาหาทางช่วยคนไทย ได้ข้อสรุปแล้วจึงประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการที่จะรักษาพยาบาล หรือ การช่วยชีวิตคนป่วยฉุกเฉินอย่างไร ให้ อย่าง ทันท่วงที  ทีมข่าวของเราจึงขอนำข่าวเกี่ยวกับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” และ 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติที่เสี่ยงต่อชีวิตและสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด มาบอกกล่าวกันแล้วครับ

         ท่านผู้อ่านครับ ความเป็นจริงคือ นโยบายนี้ได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านๆมาแล้ว และมีการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการมาเรื่อยๆ แต่ล่าสุด สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกันแบบทวิภาคี เพื่อปรึกษาหาทางแก้ปัญญาที่ค้างคามานาน

             ปัญหานั้น คือ  คือ ประชาชนไม่กล้าเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากกลัวไม่มีค่ารักษา หรือหลายโรงพยาบาลมีข้อขัดแย้งเรื่องการรับรักษาประชาชนเนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ ซึ่งผลการประชุมสรุปว่า

1. กระทรวงสาธารณสุขและสพฉ.ได้ร่วมกันกำหนดคำนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลว่าอาการในลักษณะใดบ้างที่หมายถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที

2. มีการจัดทีมแพทย์ให้ประจำการที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อวินิจฉัยถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนที่เข้ารับการรักษาในกรณีที่มีความขัดแย้งถึงอาการเจ็บป่วยว่าเข้าข่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการคัดแยกให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

3. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานการทำงานและหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางตามนโนบายดังกล่าว และแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

ส่วนแนวทางในการให้บริการตามนโนบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” นั้น ประชาชนที่พบว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าไปขอรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทันที โดยเมื่อประชาชนไปถึงโรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่จะตรวจดูสภาพอาการพร้อมทั้งวินิจฉัยตามเกณฑ์ว่าเข้าข่ายของการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติก็จะได้รับการรักษาในทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ทั้งนี้หากมีข้อขัดแย้งทางอาการก็จะรีบส่งต่อให้ทีมแพทย์ที่ประจำการอยู่ที่ สพฉ.วินิจฉัยอาการและหากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติก็จะรีบรักษาอย่างทันท่วงที จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะสามารถทำได้ภายในเวลารวดเร็ว ส่วนประชาชนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ก็สามารถโทรแจ้งสายด่วน1669 เพื่อขอรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อส่งต่อไปผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิของผู้ป่วยได้ต่อไป

 ทีนี้ก็มาถึงหัวใจของเรื่องนี้ คือ อาการฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถเข้ารับการรักษาได้นั้น ให้สังเกตได้จาก 6 อาการที่ส่งผลต่อชีวิตและอวัยวะสำคัญ ดังนี้

        1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที

        2.การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน

        3.ระบบหายใจมีอาการดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ

        4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติอย่างน้อย2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น

         5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ

         6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น

                 ทีนี้ก็มาถึงเวลาสำคัญละครับ หากว่า คนในครอบครัวของท่านหรือพบคนที่มีอาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านหรือ พลเมืองดี หรือจิตอาสา ก็จัดการนำคนป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือการคมนาคมสะดวกที่สุดทันที แม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่คิดคารักษาพยาบาลแพงๆก็ตาม  โรงพยาบาลเหล่านี้จะต้องรีบดูแลรักษาคนป่วยให้พ้นวิกฤติทันทีเมื่อได้รับคนไข้  เมื่อพ้นวิกฤติแล้ว ความรับผิดชอบก็หมดไป จากนั้นก็ตรวจสอบดูอาการว่า ปลอดภัยแล้วหรือไม่  หากปลอดภัย  จึงจะส่งตัวผุ้ป่วยไปรับบริการยังโรงพยาบาลของรัฐหรืออื่นใด ที่ผู้ป่วยสามารถรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลได้ต่อไป เป็นเสร็จพิธี ครับ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ