วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

วันเบาๆ เรื่องเบาๆ ว่าด้วยจริยธรรม(หายากแต๊หนอ)

05 มี.ค. 2015
345
Spread the love

วันเบาๆ เรื่องเบาๆ ว่าด้วยจริยธรรม(หายากแต๊หนอ)

วันนักข่าว

      ถึงวันนักข่าว ก็ต้องเขียนถึงเรื่องของสื่อบ้าง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์  ปีที่ผ่านมา เราพูด เราถามหา จริยธรรมของสื่อกันมาก แต่ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ แม้จะมีองค์กรเกี่ยวข้องกับสื่อในระดับชาติอันทรงเกียรติที่พยายามจะให้สื่อยอมรับว่าศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์จริงเพราะเนื้อในอันแท้จริงมันคือ เสือกระดาษ ที่ไม่เคยมีบทบาทอะไรให้เป็นที่ประทับใจ ทำได้แค่ ออกหนังสือ ประณาม หรือมีหนังสือแจ้งความผิด ผลที่ได้ตามมาคือ ผู้กระทำผิด ขอลาออกจากสถานภาพของสมาชิกองค์กร แล้วก็จบ สังคมจึงอึดอัด แน่นอก มองแบบตลกๆปนน่าสงสาร ในที่สุด

       ข่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อ ซึ่งเมื่อกระทำผิด แล้วก็ไม่มีอะไรในกอไผ่อีกตามเคย( ณ วันที่รายงานข่าวนี้) แต่เห็นว่า มันน่าสนใจ จึงนำเสนอ 

      โดยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เกิดเรื่องน่าสนใจขึ้นมาเรื่องหนึ่ง

     เว็บไซต์ของ น.ส.พ.รายวันฉบับยักษ์ใหญ่ในประเทสไทยรายงานว่า  เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 58 ในสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ใช้ถ้อยคำการพาดหัวข่าวข่มขืนเด็กหญิงรายหนึ่ง อย่างรุนแรง จนคนในสังคมออกมาประณามการทำหน้าที่ของสื่อ และเรียกร้องให้สภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติดำเนินการลงโทษ เพื่อให้เป็นแบบอย่าง และตระหนักถึงจริยธรรมของการนำเสนอข่าวมากยิ่งขึ้น

ข่าวรายงานต่อไปว่า นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในเวลานั้น เปิดเผย ถึงกรณีดังกล่าว ว่า พฤติกรรมที่หนังสือพิมพ์ ฉบับนั้นทำ  เข้าข่ายผิดจริยธรรมสื่ออย่างชัดเจน ถือเป็นการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว โดยนอกจากจะไม่ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนของเด็กแล้วนั้น ยังซ้ำเติมความทุกข์ของเด็กและครอบครัวด้วย อีกทั้งยังผิดกฎหมาย เรื่องของการแสดงภาพ หรือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก หรือผู้ปกครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยมาตรา 27  ห้ามโฆษณา หรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ และมาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ปกครองสวัสดิภาพ หรือผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุลภาพ หรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวเด็ก ผู้ปกครอง ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของเด็ก หรือผู้ปกครอง บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาและผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24 ซึ่งได้ล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าว เนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วย โดยอนุโลม    ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณา หรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง อีกมาตราหนึ่งคือ มาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 มาตรา 50 หรือมาตรา 61 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า จะทำหนังสือถึงผู้ที่จัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น และพัฒนาสังคมจังหวัด รวมถึงทนายความและจะให้น.ส.พ. แสดงความรับผิดชอบ ถ้าไม่แสดงความรับผิดชอบ ก็คงจะต้องพยายามที่จะให้ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

        (หมายเหตุผู้รายงานข่าว ณ วันนี้  4 มีนาคมแล้ว ทุกอย่างยังเงียบ ไร้ร่องรอย)

“ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่ได้มีอำนาจในการลงโทษ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรตามกฎหมายและ หนังสือพิมพ์ ที่เสนอข่าว  ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่สิ่งที่จะทำคือ การใช้มาตรการทางสังคม ชี้ให้เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมสื่ออย่างชัดเจน ทางสมาคมผู้สื่อข่าว ท้องถิ่น ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการแถลงการณ์ หรือประณามการกระทำผิดจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ และผู้ปกครองเด็ก ควรใช้สิทธิตามกฏหมายในการแจ้งความดำเนินคดี หรือยื่นคำขอให้สภาทนายความประจำ เป็นทนาย หรือตัวแทนในการดำเนินคดี ส่วนเรื่องอื่นๆ คงเป็นระยะยาว ต้องไปดูเรื่องขององค์กรกำกับสื่อที่จะผลักดันเสนอ สปช. สร้างกลไกกำกับสื่อที่มีประสิทธิภาพให้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคสื่อ ในการคุ้มครองผู้ถูกละเมิด” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าว

สำหรับในอนาคตจะมีการออกกฎหมายตั้งองค์กรมาควบคุมสื่อด้วยหรือไม่นั้น นายจักร์กฤษ ระบุว่า มันเป็นรายละเอียดที่ต้องใช้เวลา และจำเป็นจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาเสริมมาตรการทางสังคมที่ใช้มา 10 กว่าปี แต่รายละเอียดที่จะเพิ่มกฎหมายอะไรแบบไหน คิดว่าเป็นรายละเอียดที่จะต้องคุยกันในเวลาที่มากกว่านี้ นอกจากนี้ การกำกับดูแลสื่อจะต้องมีการปฏิรูปอยู่แล้ว ส่วนจะปฏิรูปในรูปแบบไหนก็จะต้องดูรายละเอียดว่าจะต้องรับปรับแก้กฎหมายแบบไหนอย่างไร และทำอย่างไรให้มีสภาพบังคับ นี่คือปัญหาที่เป็นมานานแล้ว

ส่วนอีกด้านหนึ่ง  คุณบรรยงค์ สุวรรณผ่องกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในเวลานั้น ก็ออกมาเสนอความคิดเห็น ท่านเขียนไว้ดีมาก ขอถ่ายทอดให้ทราบทั่วกัน

         ท่านว่าจิตวิญญาณไม่ได้มีไว้เพื่อขาย

.          19/2/58-1756> ‘จับไอ้บ้ากามอุ้มเด็กหญิง ๓ ขวบ ลงลิ้น-ควักมังกรใหญ่ไถ-โชคดีตามหาพบรองเท้า เจอเด็กร้องไห้ จิ๋มบวมเป่งเป็นพาดหัวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ซึ่งยังไม่เห็น โปรยข่าว’ (lead) และ เนื้อข่าว’ (body) ว่าเสนออย่างไร แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากจาก พาดหัวเพราะเป็นส่วนย่อที่สุดของข่าว

.      มองการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่อาจอ้างได้ว่า ๑) เป็นเรื่องที่ต้องถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ จะได้ระมัดระวังดูแลลูกหลาน และ ๒) พาดหัวด้วยผลจากการกระทำของผู้ต้องหา ก็เพื่อสื่อสารความผิดปกติที่ต่างไปจากคนทั่วไป อันเป็นภัยร้ายของสังคมปัจจุบัน เป็นเหตุผลสองข้อที่ผู้รับผิดชอบสื่อชื่อฉบับนี้ อาจนำมาใช้ตอบสังคม

             .อย่างไรก็ตาม ทุก หน้าที่ย่อมมี ความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วยเสมอ ไม่เว้น สื่อมวลชนซึ่งเมื่อมองความรับผิดชอบแล้ว มีข้อพิจารณา ดังนี้

        .๑) ไอ้บ้ากามที่สื่อความหมายถึงภาวะทางจิตของผู้ต้องหานั้น เมื่อเป็นข่าว ยังคงต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แม้จะมีข้อถกเถียงกันบ่อยครั้งในหมู่นักวิชาการและนักวิชาชีพถึงการใช้ถ้อยคำบนพาดหัว ซึ่งฝ่ายวิชาชีพเห็นว่าควรยกไว้บ้าง เพราะเป็นส่วนที่เรียกความสนใจผู้อ่านเป้าหมายบนแผงหนังสือ ด้วยเหตุนี้ จึงมักพบพาดหัวเชิงตัดสินในสื่อกระแสหลัก เช่น ไอ้หื่นซึ่งหนังสือพิมพ์กระแสหลักฉบับหนึ่งเคยพาดหัวเรียกคนขับรถสามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) ที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงด้วยคำว่า ไอ้หื่นซึ่งต่อมา พิสูจน์ได้ว่า ผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กซึ่งถูกหนังสือพิมพ์พิพากษาไปแล้วนั้น บริสุทธิ์แต่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว มิได้มีคำขอโทษคนขับรถตุ๊กตุ๊กผู้นั้นแต่ประการใด ส่วนกรณีเด็กผู้เคราะห์ร้ายนี้ แม้ต่อไป กระบวนการยุติธรรมอาจพิพากษาผู้ต้องหาว่าผิดจริง กระนั้น การชิงตัดสินก่อนศาลก็เป็นปัญหาทั้งเชิงกฎหมายและเชิงจริยธรรม

        .๒) เด็กหญิง ๓ ขวบตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อปี ๒๕๓๕ และออกกฎหมายรองรับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ด้วยเหตุนี้ การพาดหัวที่อธิบายรายละเอียดของเด็กที่ถูกกระทำ นอกจากหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายแล้ว ยังอ่อนไหวต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส และต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาสนั้น ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง (ข้อ ๑๕ ข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๑)

           .๓. การพาดหัวด้วยถ้อยคำแสดงการกระทำต่อเด็กผู้เคราะห์ร้าย ยังขัดแย้งต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่ระบุว่า พาดหัวข่าว โปรยข่าว หรือการนำเสนอรายละเอียดของเนื้อหาข่าวผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งในเรื่องการใช้ภาษาและการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องเพศอันเนื่องมาจากการละเมิดทางเพศนั้น (แนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการเสนอข่าวและภาพข่าวผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ พ.ศ. ๒๕๔๙)

        .๔. แม้อาจไม่ลงภาพเด็ก หรือลงแบบปิดหน้า แต่การลงภาพและชื่อนามสกุลตาของเด็กผู้เคราะห์ร้าย ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทราบว่า เด็กผู้เคราะห์ร้ายนั้นเป็นใคร ข้อนี้ก็เป็นเรื่องอ่อนไหวเชิงจริยธรรมเช่นกัน

             .สรุปได้ว่า เป็นเจตนาขายข่าวที่หวังผลทางการตลาด โดยไม่คำนึงถึงวันหนึ่งข้างหน้าว่าข่าวนั้น จะกลับไปทำร้ายเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

.              ในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เราขายข่าวก็จริง แต่เราจักไม่ยอมขาย จิตวิญญาณเป็นอันขาด

                ขอฝากเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกท่าน เนื่องในวันนักข่าว

 

 อรุณ ช้างขวัญยืน /รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ