รีดภาษี “เหล้า-เบียร์-ยาสูบ” 2% ต้นปี 61 เป้าหมาย4พันล้านเพิ่มเงินเดือนผู้สูงอายุ

Spread the love

scoop21

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

รีดภาษี “เหล้า-เบียร์-ยาสูบ” 2% ต้นปี 61 เป้าหมาย4พันล้านเพิ่มเงินเดือนผู้สูงอายุ

 

             ท่านผู้อ่านครับ มีข่าวดีมาบอกครับ  มีรายงานว่า คุณ  กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2560 ว่า  ครม. มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ โดยอนุมัติในหลักการส่วนการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสุรา ยาสูบ และเบียร์ ในอัตรา 2% ในแต่ละรายสินค้า เพื่อนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บเข้ากองทุนผู้สูงอายุ กำหนดเพดานการจัดสรรเงินเข้ากองทุนไว้ที่ 4,000 ล้านบาทต่อปี

        ท่านผู้ช่วย รมต.บอกว่า”กำหนดให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสุรา ยาสูบ และเบียร์ ในอัตรา 2% ในแต่ละรายการสินค้า โดยยอมรับว่า ผู้ประกอบการอาจจะผลักภาระไปยังผู้บริโภคบ้าง แต่ทั้งนี้ ในการเรียกเก็บภาษีนั้นยังไม่มีผลในทันที ทุกอย่างจะเริ่มเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาภายในระยะเวลา 2-3 เดือน และคาดว่าจะใช้เวลาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 2 เดือน กฎหมายดังกล่าวจึงจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2561″

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันกรมสรรพสามิตได้มอบเงินอุดหนุนให้แก่ 3 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ปีละ 2% ของภาษีบาป องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ TPBS 1.5% โดยกำหนดเพดานไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้รับเงินจากภาษีบาปปีละ 2% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เมื่อต้องเพิ่มให้กแงทุนผู้สูงอายุอีกร้อยละ 2 ส่งผลให้หลังจากนี้กรมสรรพสามิตจะต้องจัดสรรเงินจากภาษีบาปดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 7.5% ต่อปี

                  เพื่อมิให้เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศมากเกินไปขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ก็เตรียมหามาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะ บริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าวแบบสมัครใจด้วย โดยภาพรวมคาดว่าจะมีเงินทุกช่องทาง เพิ่มเข้ากองทุนดังกล่าวอีก รวมแล้วปีละ 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจากการได้เงินเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเป็น 900-1,300 บาทต่อราย

ทางด้านคุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มนำเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุ รวมทั้งมีนโยบายให้คนชราฐานะดีสละสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และบริจาคเงินเข้ากองทุนผู้สูงอายุ หากมีผู้สละสิทธิ์ 500,000 คน จะมีเงินเหลือเข้ากองทุนจำนวนหนึ่งเมื่อรวมกับการจัดสรรเงินจากภาษีสรรพสามิตใหม่ร้อยละ 2 จะได้เงินเข้ากองทุนอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมกับรายได้เก่าของกองทุนเป็นเงินประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำเงินมาบริหารจัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ได้มากกว่าเดิมเพียงพอต่อการดำรงชีพยามที่ภาวะราคาสินค้าสูงขึ้นในปัจจุบันและอนาคต และการปรับเพิ่มภาษีบาปอีกร้อยละ 2 ไม่กระทบต่อราคาสินค้า เบียร์ สุรา ยาสูบ มากนัก อนึ่ง เป็นสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงไม่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่

          รายงานแจ้งด้วยว่ากระทรวงการคลังเตรียมรณรงค์การสมัครใจไม่รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีรายได้สูงแล้ว เพื่อส่งเงินไปช่วยเหลือผู้สูงอายุรายได้น้อย เนื่องจากผู้สูงอายุ 4 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ประมาณ 3.5 ล้านคน  หากผู้ที่มีฐานะดีประสงค์สละสิทธิ์ ต้องการสละสิทธิ์ เบื้องต้นสามารถแจ้งความจำนงผ่าน 3 แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย  และกระทรวงคลังจะแจกเหรียญเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ต้องการช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกัน และเมื่อสละสิทธิ์แล้ว หากมีปัญหาทางการเงินยังสามารถกลับมาขอรับได้เหมือนเดิม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก MGR.online

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียง/รายงาน