รัฐไม่ควรเมิน”ไบโอแก๊ส” พลังงานทดแทน

06 เม.ย. 2013
370
Spread the love

รัฐไม่ควรเมิน”ไบโอแก๊ส” พลังงานทดแทน “คนไทยซื้อ ไฟฟ้า-เชื้อเพลิง-ก๊าซ”ราคาแพงมานานแล้ว

นายประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI) กล่าวว่า “Biogas 1,000 ฟาร์ม ร่วมใจกู้วิกฤติไฟฟ้าดับ” เมื่อวันที่ 4 เม.ย.56 ว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินงานด้านพลังงานก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอแก๊ส ในภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศ ทั้ง ฟาร์มสุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และ โรงฆ่าสัตว์ กว่า 1,062 แห่ง โดยนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาใช้ในการสร้างระบบก๊าซ ชีวภาพ เพื่อผลิตพลังงานทดแทน และนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ตั้งแต่ปี 2540-2555 สามารถผลิตไบโอแก๊ส ได้กว่า 676,399,527 ลูกบาศก์เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 170 เมกะวัตต์ เมื่อคำนวณเป็นเม็ดเงินหน่วยละ 3.50 บาท จะอยู่ที่กว่า 3,300 ล้านบาท หากคิดตามหน่วยค่าไฟฟ้าปัจจุบันหน่วยละกว่า 4 บาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ปริมาณการผลิตดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นเวลา 6 ปีแล้ว

นายบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทเริ่มนำระบบผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ตั้งแต่ปี 2553 สามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียได้ 1,468,108 ลูกบาศก์เมตร นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 2,055,352 หน่วย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13,660,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า โดยลงทุนติดตั้งระบบไบโอแก๊สรองรับวัวได้ 4,000 ตัว ใช้เวลาคืนทุน 23 เดือน

ขณะที่ นายสิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไบโอแก๊สที่ได้ยังมีการต่อยอดนำไปใช้เติมในรถยนต์ในรูปก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ ซีบีจี มากว่า 2 ปีแล้ว จากการทดสอบพบว่าแรงม้า หรือกำลังเครื่องยนต์ไม่ต่างจากเอ็นจีวี ในส่วนของไอเสียเมื่อเทียบกับมาตรฐานกรมการขนส่งทางบกพบว่า ไฮโดรคาร์บอน หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์ต่ำกว่ามาตรฐานอีกด้วย ซีบีจีมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเอ็นจีวี สามารถใช้ ทดแทนกันได้

ตอนนี้รัฐบาลเองก็มีการผลักดันให้ใช้ซีบีจีให้ได้ 5% ของการใช้เอ็นจีวี เชื่อว่าเร็วๆ นี้ซีบีจี จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น สถาบันวิจัยฯได้พัฒนาซีบีจีมาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มใช้นำร่องรถยนต์เมื่อต้นปี 2555 โดยเมื่อต้นปีได้เปิดให้บริการสถานีบริการซีบีจีให้เติมฟรี ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถสี่ล้อแดง

นายพฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ยังต่อยอดนำไบโอแก๊สที่ได้ไปอัดลงในถังแอลพีจี เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือนได้ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความหนาแน่นของแก๊สที่น้อยกว่าแอลพีจี และค่าความร้อนน้อยกว่า

นายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าได้มอบนโยบายให้กับสำนักนโยบายและแผนพลังงานและเน้นย้ำให้ดูเรื่องของโครงการวิจัยด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล (Biogas) ที่ผลิตจากหญ้า โดยให้ดูเรื่องของส่วนเพิ่ม ราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ให้เหมาะสมและให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เพราะปลูกหญ้า เพื่อจูงใจให้เกอดการเพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนเพราะ Biogas สามารถนำไปผลิตเป็นก๊าซหุงต้มได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศ ทั้งนี้ให้เร่งศึกษาให้เสร็จในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 56  นี้

ผู้สื่อข่าวได้รายงานต่อไปอีกว่าสำหรับแผนพัฒนาพลัง งานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan  AEDP เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พลังงานทดแทนจึงเป็นเชื้อเพลิงเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ทดแทนก๊าซธรรมชาติได้ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมแบบทุ่งกังหัน พลังน้ำขนาดเล็ก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไปดำเนินการเพื่อให้สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 25% ของการใช้พลังงานรวมทั้งหมดภายในปี 2564 ขึ้นอยู่กับรัฐบาลละหน่วยงานเกี่ยวข้องว่าจะหันมาสนับสนุนกันจริงๆจังๆมากน้อยแค่ไหน เพราะคนไทยทั่วประเทศใช้ไฟฟ้า-เชื้อเพลิง-ก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพงมานานแล้ว

ทีมข่าว cnxnews รายงาน

 

รูปเพิ่มเติม

[nggallery id=41]