วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

รัฐฯ เร่งออกกฏหมายช่วยธุรกิจSMEs. ชื่อ พรบ.นิติบุคคล โดย บุคคลคนเดียว

Spread the love

รัฐฯ เร่งออกกฏหมายช่วยธุรกิจSMEs.

ชื่อ พรบ.นิติบุคคล โดย บุคคลคนเดียว

scoop1111

                     เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณ.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคล โดยบุคคลคนเดียวพ.ศ. …โดยได้ระดมความคิดเห็นทั้งจากภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ สำนักงานบัญชีและกฎหมายและสื่อมวลชน ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายฉบับนี้

ท่านอธิบดีฯบอกว่า กฏหมายนี้ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สามารถสร้างธุรกิจเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น  จะนำเสนอ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณา ในเดือนหน้าก่อน และหลังจากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เสนอให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตามขั้นตอน แล้วจึงเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นลำดับไป

ท่านอธิบดีฯ บอกอีกว่า เนื่องจากกม.นี้ อยู่ภายใต้ นโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดเล็ก กระตุ้นธุรกิจเอสเอ็มอี แสดงตัวตนและเข้ามาสู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

                 กฎหมายฉบับนี้ อยู่ในกฎหมายที่รัฐบาลจะพิจารณาเร่งด่วนซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถบังคับใช้ได้ทันในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ยอดการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเท่าตัว โดยจะเพิ่มจาก 6 แสนรายเป็น 1.2 ล้านรายในอีก 2 ปีข้างหน้าหลังจากกฎหมายผ่านสภาฯ โดยกฎหมายฉบับนี้มีหลักการที่สำคัญ เพื่อชักจูงให้ SMEs กว่า 2.8 ล้านราย เข้าสู่ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ลดต้นทุน จึงอนุญาตให้บุคคลคนเดียวสามารถขอจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้โดยจะอนุญาตให้จัดตั้งได้แค่นิติบุคคลเดียว แต่หากต้องการจะไปถือหุ้นเพิ่ม กับนิติบุคคลอื่นก็สามารถทำได้ แต่มาจดเพิ่มไม่ได้

สำหรับกรณีที่นิติบุคคลปัจจุบันที่เคยยื่นจดอยู่ 3 คน จะถอยหลังมายุบเหลือ กรรมการคนเดียวจะทำไม่ได้ กฎหมายปัจจุบันนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และบริษัทต้องมีผู้เริ่มก่อการไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจเกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดปัญหาบางประการกับการหาผู้ร่วมทำธุรกิจ นำไปสู่ปัญหาการถือหุ้นแทนกัน (นอมินี) จนเกิดข้อพิพาทต่างๆ ตามมามากมาย

ทั้งนี้จากสถิติของกรม พบว่านิติบุคคลส่วนใหญ่ ที่จัดตั้งขึ้นมามีกรรมการ 3-4 คน มีสัดส่วน 72% ของจำนวนนิติบุคคลทั้งหมด และพบว่าในทางปฏิบัติ มีผู้ถือหุ้นคนเดียวที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย 60% พบว่าถือหุ้นเกิน 90% ดังนั้น การมีพ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียวจะเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้มีโอกาสจัดตั้งธุรกิจ ลดปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจ และยังสามารถทำให้บุคคลคนเดียวที่ต้องการจะทำธุรกิจสามารถจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนการจ้างพนักงานบัญชี โดยสามารถจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี มืออาชีพข้างนอกที่ได้รับการรับรองจาก กรมได้ และยังสะดวกในการบริหารจัดการ และยังสามารถจดเลิกง่าย และหากเลิกแล้วก็สามารถทำธุรกิจเกิดใหม่ได้ในขณะที่หากมีกรรมการหลายคน หากมีปัญหาขัดแย้งกันจะมีการฟ้องร้องใช้เวลานานที่จะเริ่มธุรกิจได้ใหม่

                    รวมทั้งยังทำให้กฎหมายการจัดตั้งธุรกิจของประเทศไทยได้พัฒนาก้าวทันแนวทางการจดทะเบียนของโลกที่มีแนวโน้มการใช้กฎหมายในรูปแบบนี้อย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีกฎหมายที่จะดูแลธุรกิจรูปแบบต่างๆ ไว้ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานไว้แตกต่างกัน โดยขณะนี้ในต่างประเทศที่มีกฎหมายจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียวแล้วมี 12 ประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อินเดีย, นิวซีแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และในอาเซียน คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซียกำลังศึกษาอยู่

                     สรุปว่า ปัจจุบัน มี ผู้ประกอบการรายย่อย(SMEs)ที่ยังทำธุรกิจด้วยทุนรอนของตนเองอยู่และไม่สามารถขยายธุรกิจออกไปได้ เนื่องจากขาดแคลนแหล่งเงินทุน จะไปพึงพาสถาบันการเงินก็ไม่ได้ เพราะการจะกู้เงิน จะต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายเสียก่อน แต่ก่อน ต้องมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 คนจึงจะจดทะเบียนได้ เมื่ออกกฎหมายให้ บุคคลเพียงคนเดียวไปยื่นจดทะเบียนได้ ผู้ประกอบการก็จะมีช่องทางในการทำธุรกิจของตนเองออกไปได้มากขึ้นโดยไม่ต้องไปพึงพาหาหุ้นส่วน ได้คนดีก็ดีไป ได้หุ้นส่วนไม่ดีก็ทะเลาะกันภายหลัง เพราะเมื่อไปจดทะเบียนคนเดียว แล้วก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ได้เงินแล้วก็มาบริหารเอง ไม่ต้องปรึกษาใคร

               ข้อสำคัญ เมื่อรัฐบาลช่วยแล้วก็อย่าหลงระเริง อย่าใช้จ่ายเงินทุนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนธุรกิจเจ๊งก็แล้วกัน

                        

ขอขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้าออนไลน์………………

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงและรายงาน……………..

 สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ