วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

รมว.ลงพื้นที่ โรงพยาบาลนครพิงค์

Spread the love

รมว.ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบบริการ 10 สาขาอย่างเต็มรูปแบบที่รพ.นครพิงค์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบบริการ 10 สาขาอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อ ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ณ โรงพยาบาลนครพิงค์นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนา โดยมี นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานครั้งนี้

โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพดีได้เร่งพัฒนาให้สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรฐานการรักษา เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ สามารถเข้าถึงการบริการได้รวดเร็ว ทั่วถึง กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามแผนแม่บทพัฒนาศักยภาพบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา ได้แก่ สาขาอุบัติ,สาขาหัวใจและหลอดเลือดสมอง,สาขาทารกแรกเกิด,สาขามะเร็ง 5 สาขาหลัก ( สูติ,ศัลย์,อายุรกรรม,กุมาร,ออร์โธปิดิกส์) สาขาตาและไต,สาขาปฐมภูมิฯ,สาขาโรคเรื้อรัง,สาขาจิตเวชและสาขาทันตกรรม จังหวัดเชียงใหม่ได้แปลงนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการ ปี 2556 2560 จัดทำแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายบริการสุขภาพแผนกำลังคน แผนพัฒนากำลังคน และแผนงบลงทุน ที่สอดคล้องกัน แผนพัฒนาระบบบริการภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการแต่ละสาขา

ความสำเร็จการพัฒนาระบบบริการสาขาหลักหลังจากกระทรวงมีนโยบายเรื่องการพัฒนาระบบบริการ โดยสาขาศัลยกรรม ในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ จังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้นโยบาย “One Provine One Hospital” โดยจัดระบบตารางการผ่าตัดของโรงพยาบาลแม่ข่าย (รพ.นครพิงค์) และโรงพยาบาลลูกข่าย (รพ.หางดง และ รพ.สันทราย) ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นเตียงในโรงพยาบาลนครพิงค์ โดยในปี 2556 โรงพยาบาลหางดงสามารถผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบได้ถึง 213 ราย จากเดิมในปี 2555 ที่ผ่าตัดได้เพียง 35 ราย ขณะที่โรงพยาบาลสันทรายผ่าตัดไส้ติ่งได้ 54 ราย จากเดิมในปี 2555 ที่ผ่าตัดได้เพียง 15 ราย

สำหรับสาขาศัลยกรรมกระดูก การพัฒนาระบบบริการที่เป็นจุดเด่นและได้ผลสำเร็จกับทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ คือ การให้บริการให้คำปรึกษาผ่านระบบ Line Application โดยมีแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์เป็นแม่ข่าย ขณะนี้มีจำนวนสมาชิกที่เป็นแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนและลำปาง ใน Line Group Ortho รวมทั้งสิ้น 73 คน โดยแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนสามารถส่งปรึกษา โดยใช้ภาพถ่ายฟิล์ม X – ray ส่งผ่าน Line มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่ให้คำปรึกษาผ่านระบบ Line จำนวน 86 ราย แพทย์โรงพยาบาลชุมชนสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องส่งต่อจำนวน 42 ราย

การพัฒนาระบบบริการตามแผน การพัฒนาระบบบริการของจังหวัดเชียงใหม่ดังกล่าวประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากได้อาศัยกลไกการวางแผนที่สอดคล้องกับระบบการส่งต่อที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมมือจัดทำโดยผู้บริหารมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ทำให้โรงพยาบาลสามารถประหยัดงบประมาณในการส่งต่อผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นศูนย์สำรองเตียง ปีละประมาณ 35 ล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวมีปัจจัยที่เป็นตัวเกื้อหนุน คือ การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ที่แยกบทบาทระหว่างผู้ควบคุมกำกับมาตรฐาน(Regulator) และผู้ให้บริการ (Provider) ได้มีโอกาสพูดคุยปรึกษาหารือกันมากขึ้น ในทุกๆด้านที่เกี่ยวกับงานด้านบริการ มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันและแบ่งปันกันมากขึ้น แบบพี่น้องช่วยเหลือกัน ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ