วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

รพ.สวนดอก มอบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจแก่ศาลากลางจ.เชียงใหม่

Spread the love

รพ.สวนดอก มอบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ(AED)แก่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

 DSC_3912

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ฯ มช. มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ(AED)แด่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หวังเริ่มต้นติดตั้งจุดสำคัญทั่วเมืองเชียงใหม่ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED)แด่นายนาวิน สินธุสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตั้ง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 30 กันยายน 2557 เวลา 15.00น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ผศ.นพ.นเรนทร์  โชติรสนิรมิต   รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  กล่าวว่า  “ภาวะการหยุดเต้นของหัวใจแบบเฉียบพลัน(Sudden cardiac arrest)คือภาวะที่หัวใจหยุดเต้นทันที โดยไม่ทราบล่วงหน้า ทำให้เลือดหยุดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย สถิติของภาวะหัวใจหยุดเต้นแบบเฉียบพลัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบประมาณปีละ 180,000 – 250,000 คน ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวจะเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที   เกิดได้ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นสามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นได้ถ้าได้รับการกระตุกไฟฟ้าหัวใจทันที  โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือต้องทำภายใน 10 นาที  ดังนั้น การมีเครื่องกระตุกหัวใจในที่สาธารณะจะสามารถช่วยให้ผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมีโอกาสรอดชีวิตได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการติดตั้งเครื่อง AED ประจำไว้ทุกที่ในที่สาธารณะ  เช่น  สนามบิน สถานีรถไฟ โรงเรียน ศูนย์กิจกรรมชุมชน และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการติดตั้งเครื่องดังกล่าวในที่สาธารณะเลย  ดังนั้น การติดตั้ง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการช่วยชีวิตผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดให้มีเครื่องมือดังกล่าวติดตั้งในสถานที่สาธารณะทั่วไป สังคมไทยจะได้ตระหนักถึงการดูแลภาวะที่คุกคามแก่ชีวิตได้อย่างทันท่วงที โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้นำเครื่องAED ติดตั้งตามจุดสำคัญต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 จุด ได้แก่ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ,โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และวัดพระธาตุดอยสุเทพ”

เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED)  เป็นอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชนิด Ventricular fibrillar fibrillation (เวนทริคูลาร์ฟิบริลเลชัน) ซึ่งเป็นภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว  และ Ventricular tachycardia (เวนทริคูลาร์แทคีคาร์เดีย)ซึ่งเป็นภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติได้โดยอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง รวมถึงเครื่อง AED ยังสามารถให้คำแนะนำในการช่วยชีวิตเบื้องต้นแก่ผู้ช่วยเหลือ เพิ่มโอาสการรอดชีวิตแก่ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ AED ถูกออกแบบมาให้ใช้ง่าย คนทั่วไปสามารถใช้ได้ มีการสอนวิธีใช้ AED ในชั้นเรียนอบรมการกู้ชีพเบื้องต้นทั่วไป

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  กล่าวต่อว่า ความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอย่างทันท่วงทีในทุกพื้นที่ และการให้ความรู้แก่ประชาชนให้สามารถช่วยฟื้นคืนชีพ และใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติได้นั้น จะเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยแก่จังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น   อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้มีการเตรียมความพร้อมโดยการติดตั้งเครื่อง AED ในสถานที่สาธารณะ เพื่อการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพนอกสถานพยาบาลของประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรปต่อไป

 

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ