วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

Spread the love

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Map foundation) 

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Map foundation) สนับสนุนโดยกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (GFATM)จัดงานเสวนาเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชนสังคมกับสื่อมวลชนเพื่อพื้นที่แรงงานข้ามชาติในยุคบูรณาการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องแรงงานข้ามชาติใจกรอบการทำงานและเสริมสร้างให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการทำงานและการพัฒนาสื่อต่อแรงงานให้สอดคล้องรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเมอร์เคียว ถนนช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ นายแสงเมือง มังกรกรรมการเลขานุการมูลนิธิ MAP เป็นประธานเปิดงานเสวนาฯให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน ร่วมระดมความเห็นพร้อมนำข้อเสนอสู่การปฏิบัติตามแผนของแต่ละองค์กรเครือข่าย พร้อมกล่าวว่า ตามที่จะมีการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 แน่นอนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคแรงงาน :ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาสังคมต่างแสดงความกังวลใจ และคาดการณ์แนวโน้มผลได้และผลเสียในหลายทิศทางนั้น ซึ่งข้อตกลงการค้าบริการขององค์การการค้าโลก ได้ระบุให้มีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยถือเป็น 1 ใน 4 รูปแบบของการค้าบริการด้วย แต่ปรากฏว่าการเปิดเสรีดังกล่าวในแต่ละประเทศกลับจำกัดคำว่า “แรงงาน” อยู่ในวงแคบๆ โดยการเปิดเสรีเฉพาะแรงงานระดับสูงในภาคบริการเท่านั้น เช่น นักบริหาร ผู้จัดการ หรือนักวิชาชีพเฉพาะสาขา เช่น วิศวกร นักกฎหมาย แพทย์ ฯลฯ

ซึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ประเทศด้อยพัฒนาขาดแคลนอยู่แล้ว และมีไม่เพียงพอแม้แต่จะใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง การเปิดเสรีแรงงานในภาคดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามากนัก ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนามีอย่างเหลือล้นและพร้อมที่จะส่งออก ก็คือ แรงงานระดับล่างไม่ว่าจะเป็น กรรมกร แม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ประเทศพัฒนาแล้วมีความต้องการเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้รวมแรงงานนอกภาคบริการเข้าไว้ด้วย เช่น แรงงานภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ปรากฏว่าประเทศพัฒนาแล้วกลับต่อต้านอย่างเต็มที่ ด้วยเกรงว่าแรงงานระดับล่างจากประเทศด้อยพัฒนาจะไหลทะลักเข้าประเทศ จนทำลายระบบสวัสดิการ เศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศไป ด้วยเหตุนี้ การค้าบริการในรูปแบบการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังประเทศอื่นนั้น จึงมีมูลค่าเพียง 1.4% ของการค้าบริการระหว่างประเทศทุกรูปแบบเท่านั้น ในขณะที่รูปแบบการตั้งกิจการในต่างประเทศ กลับมีมูลค่าถึง 56.3% ของมูลค่าการค้าบริการทั้งหมด

ด้านนางสาวกาญจนา ดีอุตมูลนิธิ MAP เผยว่า การเรียกข้อเสนอต่อปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการปกป้อง-ส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติสิ่งที่จะเรียกร้องให้มีการคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคลและเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายที่เท่าเทียมของบุคคลทุกคน รวมถึงแรงงานทุกคน อาเซียนต้องกำหนดกรอบเพื่อคุ้มครองคนงานข้ามชาติและครอบครัวโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของพวกเขาและมีหลักประกันวากฎหมายของอาเซียนเพื่อคุ้มครองคนงานข้ามชาติ และตระหนักถึงความสำคัญด้านบทบาทหญิงชายในประเด็นการย้ายถิ่น โดยเฉพาะความสำคัญของงานผู้หญิงให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายด้วย

นอกจากนั้นต้องพิจารณาวิถีชีวิตความสนใจความสามารถของคนงานไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย ใช่ว่าจะสนใจแต่ผลผลิตของแรงงานหรือผลกำไร หรือเศรษฐกิจของประเทศ ควรสนใจถึงการการได้รับความคุ้มครองสิทธิในด้านฐานะพลเมือง หรือ สถานะเป็นแรงงาน ส่วนแรงงานข้ามชาติต้องมีการพัฒนานโยบายที่คุ้มครองสิทธิและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถบังคับใช้มาตรฐานแรงงานอย่างเท่าเทียมโดยไม่อยู่ในลักษณะของการบีบบังคับไม่ปลอดภัยไม่มั่นคง เพราะหากจะเป็นประชาคมเดียวกันย่อมต้องสร้างความไว้ใจ และการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

คาดว่าผู้เข้าร่วมจะมีความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติภายใต้กรอบการทำงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมร่วมพัฒนาแนวทางการดำเนินงานของสื่อต่อแรงงานข้ามชาติและนำข้อมูลมาปรับเข้ากับการดำเนินงานของตน.

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ