วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

มารู้จักงานใหญ่ของ “กรมคุมความประพฤติ” เจ้าของคุกชุมชนไม่มีรั้วไม่มีกำแพงทั่วราชอาณาจักร…

21 มี.ค. 2016
241
Spread the love

scoop2

สกู๊ปพิเศษ  CNX NEWS 

มารู้จักงานใหญ่ของ..กรมคุมความประพฤติเจ้าของ.คุกชุมชน..ไม่มีรั้ว ไม่มีกำแพง..ทั่วราชอาณาจักร

ระยะนี้มีข่าวเกี่ยวกับรถชนกันบ่อยมาก  มีคนเจ็บ คนตายมากราย   รายที่น่าสนใจมากคือ รถเบนซ์ลูกเศรษฐี พุ่งชนรถของนิสิตปริญญาโทเสียชีวิตคารถ2ศพ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในเรื่องของความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ท่านที่ติดตามข่าวก็คงทราบดี

                การที่มีคนถูกรถที่ขับมาเร็วมาก ชนตายคารถคาถนนทำให้ถูกโยงไปถึงกรณีที่เยาวชนอายุไม่ถึง18ปี ขับรถชนรถตู้บนทางด่วน มีคนตายมากถึง 9 ศพเมื่อหลายปีก่อน การดำเนินคดีเป็นไปแบบสังคมคาใจ และเมื่อผลทางคดีออกมาสังคมยิ่งคาใจ เพราะเยาวชนคนนั้นได้รับโทษแบบว่า เบาหวิวและเมื่อสองสามวันมานี้ สังคม ยิ่งแน่นอกเข้าไปอีก เพราะมีข่าวบอกว่า  นอกจากไม่ได้รับโทษจำคุกแล้ว แม้กระทั่งโทษที่ให้บำเพ็ญประโยชน์เธอซึ่งปัจจุบัน พ้นสภาพเยาวชนเป็นสาวแล้ว              

               เธอก็ยังเบี้ยว เอาเข้าไป!!

การบำเพ็ญประโยชน์ของผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับโทษจำคุก เป็นความรับผิดชอบของกรมคุมความประพฤติ วันนี้ ผมมีเรื่องของกรมคุมความประพฤติมาฝากกันครับ

ท่าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงภารกิจของกรมคุมประพฤติตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า  เป็นการทำงานเชิงรุก

งานคุมประพฤติเปรียบได้กับคุกที่ไม่มีรั้วไม่มีกำแพง หรือคุกชุมชนซึ่งผู้กระทำผิดต้องโทษอาญาไม่เกิน 3 ปี หรือรอการพักลงโทษของกระทรวงยุติธรรมจะต้องถูกคุมประพฤติ มีผู้กระทำผิดเข้ารับการดูแลของกรมคุมประพฤติประมาณ  330,000 – 350,000 คนต่อปี

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการคุมประพฤติมีวิธีการ 6อย่าง ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม คือ1.การนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาใช้ในการคุมประพฤติ โดยผู้กระทำผิดยังสามารมีชีวิตในสังคมได้ตามปกติ อาทิ เรียนหนังสือ ทำงานหาเลี้ยงชีพ และใช้เวลาอยู่กับครอบครัวโดยที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำหรือทัณฑสถาน แต่ไม่สามารถออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ได้  กรมคุมประพฤติเคยนำร่องใช้ (EM) เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนแต่เป็นระบบเช่าจำนวน 3,000 เครื่อง แต่ปีนี้กำลังรองบประมาณส่วนกลาง 18 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อกำไล EM จำนวน 400 เครื่อง

2.บ้านกึ่งวิถีเพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจแก่ผู้กระทำผิดและผู้บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ไม่มีที่พักอาศัยหรือยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เช่น ยังไม่มีงานทำ ยังเลิกยาเสพติดไม่เด็ดขาด ปัจจุบันมีบ้านกึ่งวิถีที่รองรับ จำนวน 81 แห่งอยู่ใน62 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้ง ได้ใช้สถานที่ประกอบศาสนาเป็นที่พักของบุคคลกลุ่มนี้ เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด  โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้กระทำผิดที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติที่มีความสมัครใจและผู้กระทำผิดที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ และเข้ามาอยู่ในบ้านกึ่งวิถีจะรับเข้ามาดูแลพร้อมสร้างอาชีพ ทั้งนี้ จะดำเนินการขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปี พ.ศ.2559

 

3.หน่วยกึ่งวิถีหรือสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย โดยทางกรมคุมประพฤติจะส่งบุคลากรตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติไปประจำหน่วยกึ่งถาวรทุกแห่งเพื่อประสานการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 84 แห่ง ครอบคลุม 46 จังหวัด และมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มอีก 20 แห่งภายในปี พ.ศ.2560

4.การใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) เพื่อกดดันผู้ที่ผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้กลับเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ โดยมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อกลั่นกรองผู้ที่อยู่ในระบบงานคุมประพฤติที่ยังไม่พ้นการควบคุมเข้ารับการอุปสมบท และกรมการขนส่ง ห้ามผู้ที่หนีการคุมประพฤติไม่สามารถขออนุญาตต่อใบขับขี่ได้

5.ได้มีการ การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. … เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาที่ผ่านมามีผู้กระทำผิดเงื่อนไขหลบหนีไม่ยอมมารายงานตัวและถ้ากฎหมายผ่านความเห็นชอบจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตาม ตรวจค้นผู้ไม่ทำตามกฎมารับโทษ ซึ่งในปี2558 ที่ผ่านมามีบุคคลที่ฝ่าฝีนกฏการคุมประพฤติไม่ยอมรายงานตัว 53,000 คน

6.การบูรณาการอาสาสมัครกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี ให้มีการบูรณาการทำงานของอาสาสมัครคุมประพฤติร่วมกับอาสาสมัครอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายสร้างอาสาสมัครคุมประพฤติครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจของกรมคุมประพฤติไปสู่เป้าหมายหลัก คือ “คืนคนดีสู่สังคม” โดยปัจจุบันมีกรมคุมประพฤติมีอาสาสมัครคุมประพฤติทั่วประเทศ 20,008 คน

“สถิติผู้กระทำผิดเข้ารับการดูแลของกรมคุมประพฤติประมาณ  330,000 – 350,000 คนต่อปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.รอลงอาญาโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จะส่งมากรมคุมประพฤติเพื่อทำรายงานว่าเป็นบุคคลที่ควรให้โอกาสหรือเป็นบุคคลอันตรายก่อนพิจารณาลงโทษมีประมาณกว่า 100,000 ราย

2.ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดก่อนส่งรักษาตัว กลุ่มนี้ประมาณมี 20,000 คน

3.กลุ่มผู้ทำผิดกฎหมายได้รับโทษไปแล้วเหลือจำคุกไม่เกิน 2-3 ปี หรือเป็นนักโทษชั้นดีหรือได้รับการสั่งพักโทษมีประมาณอีกกว่า 100,000 ราย ซึ่งออกจากเรือนจำก่อนกำหนดแต่ต้องมารายงานตัว”

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวปิดท้ายว่า นโยบายของรัฐบาลจะลดโทษกลุ่มคดียาเสพติดเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 แสนคนนั้น เป็นผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้น  จึงมีแนวคิดว่าคุกในอนาคตจะมีไว้ขังเฉพาะนักโทษร้ายแรงเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่เหลือจะแยกให้ใช้วิธีการควบคุมพฤตินิสัยแทนโทษจองจำ  โดยนำวิธีการบังคับบำบัดมาใช้ ซึ่งในอนาคตจำนวนคนที่ถูกขังในคุกจะน้อยลงทำให้งานราชทัณฑ์ลดลง

แต่ขณะเดียวกันจะทำให้งานคุมประพฤติที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติจะหนักมากขึ้น เพราะงานคุมประพฤติเปรียบเหมือนคุกที่อยู่ในชุมชน ดังนั้น งานยุทธศาสตร์ของกรมคุมประพฤติเราจะต้องทำส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับงานคุมประพฤติที่ต้องขยายขอบข่ายความรับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

อนาคตที่น่าหนักใจของสังคมหรือเปล่าก็มิอาจจะคาดเดา แต่ เอาเป็นว่า วันนี้ เรามาให้กำลังใจกรมคุมความประพฤคิกันก่อนดีกว่า..

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

 CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ