วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

มหาสงกรานต์สืบทอดตำนานวัฒนธรรมไทย สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ คู่เมืองล้านนา

06 มี.ค. 2013
460
Spread the love

มหาสงกรานต์สืบทอดตำนานวัฒนธรรมไทย สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ คู่เมืองล้านนา

 

สงกรานต์ เป็นประเพณีของคนไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะคนไทยในประเทศไทยเท่านั้น ที่ถือว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ คนที่พูดภาษาตระกูลไท ก็ยึดถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เช่น ประเทศลาว คนไทยใหญ่ในประเทศพม่าที่ชายแดนติดกับภาคเหนือของไทย คนจีนที่พูดภาษาตระกูลไท ในแคว้นยูนาน เป็นต้น

ตรุษ แปลว่า ตัด หรือ ขาด หมายถึง ตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี ดังนั้น ตรุษ จึงหมายถึงพิธีแสดงความยินดีที่ปีเก่าผ่านไป การมีชีวิตรอดมาตลอดปีได้ ก็มีการแสดงความยินดี คนไทยแต่ก่อนนับเดือน เมษายน เป็นเดือนสิ้นปี และเริ่มปีใหม่ พิธีทำบุญวันตรุษ จะทำ 3 วัน คือ เมื่อถึงเดือน 4 วันแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ และวันขึ้น 1 ค่ำ ของเดือน 5 จะมีการนิมนต์พระมาสวด และมีการทำบุญ ถวายอาหารและขอพรจากพระ เพื่อเป็นสวัสดิมงคล สันนิฐานว่าคนไทยรับนับถือพุทธศาสนา เลยทำแบบอย่างพิธีทำบุญวันตรุษตามแบบอย่างของลังกามาด้วย

ส่วน สงกรานต์ แปลว่า การย้ายที่ หรือ เคลื่อนที่ หมายถึง พระอาทิตย์ย้ายที่หรือเคลื่อนเข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งก็หมายถึง การขึ้นปีใหม่นั่นเอง คนจึงแสดงความยินดีที่มีชีวิตยืนยาวย่างเข้าสู่ปีใหม่ จึงต้อนรับปีใหม่ วันปีใหม่จะเป็นวันที่ 13, 14, และ 15 เมษายนของทุกปี

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เรียกว่า วันเนา และวันที่ 15 เรียกว่า วันเถลิงศก ทางภาคเหนือ เรียกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เข้าใจง่ายดี ดังนี้ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขารล่อง คงหมายถึง ร่ายกาย จิต วิญญาณเก่า ๆ ของปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเน่า ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน ซึ่งก็หมายถึงวันสำคัญวันแรกของปีใหม่นั่นเอง

เรื่องของสงกรานต์ มีตำนานปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน กล่าวถึงมูลเหตุแห่งสงกรานต์ สรุปได้ว่า

มีเศรษฐีคนหนึ่งถูกนักเลงสุราใกล้บ้านที่มีลูกหน้าตาหมดจด 2 คน มากล่าวหาหยาบคายว่า ร่ำรวยก็สู้เขาไม่ได้ แม้ยากจนก็ยังมีลูกสืบสกุล ตายแล้วก็สูญเปล่า เศรษฐีจึงไปบนบานศาลกล่าวที่ต้นไทร ริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดมา ชื่อ ธรรมบาลกุมาร บิดาปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเฉลียวฉลาด เรียนจบไตรเพท เมื่ออายุ 7 ขวบ และรู้ภาษานกด้วย ท้าวกบิลพรหมจึงมาทดลองความรู้ โดยถามปัญหา 3 ข้อ ถ้าตอบได้ จะตัดศีรษะบูชา คือ

-เช้าราศีอยู่ที่ไหน

-เที่ยงราศีอยู่ที่ไหน

-ค่ำราศีอยู่ที่ไหน

ภายใน 7 วันจะมาฟังคำตอบ ธรรมบากลุมาร คิดไม่ออก ถึงวันที่ 6 จึงแอบหนีจากปราสาทไปหลบอยู่ใต้ต้นตาลใหญ่ 2 ต้น ซึ่งพญาอินทรีผัวเมียทำรังอยู่บนนั้น

ตอนค่ำนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนกิน ผัวตอบว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร เพราะจะแพ้ตอบปัญหากบิลพรหมไม่ได้ จะถูกตัดหัว เมื่อนางนกอินทรีถามปัญหาว่าอย่างไร และคำตอบว่าอย่างไร พญาอินทรีเฉลยปัญหาให้เมียฟังว่า

-ตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้าตอนเช้า

-ราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมมาปะพรมที่อก

-ราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงล้างเท้าก่อนนอน

ธรรมบาลได้ฟังนกอินทรีผัวเมียสนทนาจึงกลับมาประสาท พอวันรุ่งขึ้นกบิลพรหมก็มาถามปัญหา ธรรมบาลก็ตอบตามที่ได้ยินจากพ่อนกอินทรี กบิลพรหมแพ้จึงต้องตัดศีรษะตามสัญญา แต่ศีรษะของกบิลพรหมมีฤทธิ์อำนาจมาก ถ้าตกถึงพื้น จะเกิดไฟไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าโยนลงน้ำ มหาสมุทรจะเหือดแห้งไปทันที จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะไว้ แห่รอบเขาพระสุเมรุ แล้วเชิญไปไว้ในมณฑปในถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส เมื่อครบ 365 วันหรือ 1 ปี นางทั้งเจ็ดจัดเวรกันมาเชิญศีรษะกบิลพรหมออกมาแห่รอบเขาพระสุเมรุ โดยกำหนดว่า วันที่ 13 เดือนเมษายน คือวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันใด ธิดาประจำวันนั้นก็จะป็นผู้อัญเชิญพาน ดังนี้

-วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ ทุงษะ

-วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ โคราค

-วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษส

-วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มัณฑา

-วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ กิริณี

-วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ กิมิทา

-วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโหทร

สงกรานต์เป็นประเพณีที่ชาวไทยทั่วประเทศปฏิบัติสืบต่อเป็นประเพณีมาช้านาน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จนถึงวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา และสรงน้ำพระทั้งพระพุทธรูป และพระสงฆ์ แล้วก็จะรดน้ำ มีการเล่นสาดน้ำและเล่นกีฬาพื้นบ้าน

ประเพณีปล่อยปลาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเดือนเมษายน เป็นหน้าแล้ง อากาศร้อนมาก น้ำแห้งขอด ปลาก็จะไปรวมกันอยู่ตามแหล่งน้ำเล็ก ๆ หากน้ำแห้งก็จะตาย เป็นเหยื่อของนก กา หรือสัตว์อื่น คนเห็นก็เมตตา นำไปปล่อยในแม่น้ำ พอถึงฤดูฝนปลาที่รอดตายก็กลับมาแพร่พันธุ์เป็นอาหารของคนได้อีก

บรรยากาศสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์ ภาคเหนือและภาคอีสานมีการเล่นสงกรานต์ สาดน้ำกันทั่วทุกหมู่บ้าน ถึงกับมีการหยุดงานเล่นสงกรานต์ บางแห่งหยุดงานถึง 7 วันเลยทีเดียว ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงที่สุด สนุกที่สุด และมีคนจากที่อื่นของประเทศไทย รวมทั้งชาวต่างประเทศมาร่วมงานสงกรานต์มากที่สุด คือ สงกรานต์ที่เชียงใหม่ ชาวเมืองเชียงใหม่จะปฏิบัติ ดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขานต์ล่อง จะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนาว์ ชาวบ้านเรียกว่า วันเน่า วันนี้ชาวบ้านจะนำอาหารไปถวายพระ เลี้ยงอาหารญาติมิตร เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่ จะถือว่าต้องไม่ทำอะไรชั่วร้าย ไม่พูดจาหยาบคาย ด่าทอคนอื่น

วันที่ 15 เมษายน เป็นวัน พญาวัน ถือเป็นวันดีที่สุด จะทำบุญตักบาตรกันอย่างเต็มที มีการจัดขบวนไปรดน้ำสงฆ์ ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข

จุดเด่นและบรรยากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำให้คนอยากไปเล่นสงกรานต์ เพราะเชียงใหม่มีคูเมืองล้อมรอบเมืองเก่า คนทุกสารทิศจะไปชุมนุมที่คูเมืองรอบเมืองเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน และที่สำคัญ คือ วัดต่าง ๆ จะอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดจัดขบวนแห่ยาวเหยียด เช่น ขบวนพระพุทธสิหิงค์ ขบวนพระแก้วขาว จะมีรถอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัววัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ตามหลังรถบุษบกที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมสรงน้ำพระ ในขบวนยังมีขบวนตุง หมากสุ่ม หมากเบ็ง มีการแห่เครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น กลองสะบัดชัย กลองปู่แจ่ และยังมีขบวนสาวงามฟ้อนเล็บและศรัทธาจากหัววัดเข้าร่วมเป็นจำนวนมากพระพุทธเสตังคมณี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ที่สำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่นนั้น ชาวบ้านเรียกว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะจากผลึกหินสีขาวขุ่น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้วสูง 6 นิ้ว ตามตำนานกล่าวว่า แต่เดิมองค์พระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ที่กรุงละโว้ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เมื่อพระนางจามเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าละโว้เสด็จขึ้นมาเป็นกษัตริย์ครองนครหริภุญไชย พระองค์ได้ทูลขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ที่เมืองหริภุญไชยด้วย เพื่อทรงเคารพบูชาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ต่อมาในสมัยของพญายีบา พญามังราย ได้ยกทัพไปตีเมืองหริภุญไชยและเกิดความเลื่อมใสในพุทธานุภาพของพระแก้วขาวเป็นอันมาก จึงได้ทรงอัญเชิญพระแก้วขาวมาไว้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้น และเมื่อทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีแล้ว ได้ทรงนำพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่นเป็นปฐมอารามจนสิ้นรัชกาลในสมัยของพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย เมื่อทรงได้ปฏิสังขรณ์วัดเจดีย์หลวงกลางเวียงเชียงใหม่แล้วทรงอาราธนาพระแก้วขาวไปประดิษฐานคู่กับองค์พระแก้วมรกตในหอพระแก้ว ณ ราชกุฏาคารวัดเจดีย์หลวง กระทั่งสมัยพระยอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราชมีพระภิกษุนามว่าสุริยวงศ์ได้ลอบนำพระแก้วขาวลงไปกรุงศรีอยุธยาต่อเมื่อนครเชียงใหม่แต่งราชสาสน์ไปถวายและได้แต่งทัพไปตั้งที่กรุงศรีอยุธยาได้เดือนหนึ่งจึงได้พระแก้วขาวคืนมา

สมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งเชียงใหม่ได้เชิญเสด็จมาแต่ล้านช้าง เพื่อเถลิงราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์มังรายเมื่อจะเสด็จกลับบ้านล้านช้างเพื่อสืบสันติวงศ์แทนพระบิดาที่สวรรคตก็ได้ทรงนำเอาพระแก้วขาวและพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่หลายองค์ อาทิ พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแทรกดำ กลับไปบูชายังเมืองล้านช้างด้วย หลังจากนั้นก็ไม่มีหลักแน่นอนที่บ่งบอกได้ว่า พระแก้วขาวได้กลับคืนมานครเชียงใหม่และปรดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่นตราบจนปัจจุบันได้อย่าไร

อย่างไรก็ตาม ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงจะพร้อมใจกันออกมาสรงน้ำองค์พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเป็นประจำทุกปี ด้วยความเชื่อว่าการได้สรงน้ำพระพุทธรูปอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองในวันปีใหม่จะได้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว และประเพณีเหล่านี้ก็ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานจนมิอาจจะแยกออกไปจากวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ได้เลย

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์

ทีมข่าว cnxnews รายงาน