วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

มช.ร่วมพันธมิตร ตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ

Spread the love

มช.ร่วมพันธมิตร  ตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ

มาตรฐาน ISO 13485 แห่งแรกในประเทศไทย

scoop

 

          มีข่าวเผยแพร่จากงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น่าสนใจมากครับ ลองติดตามอ่านได้เลย

            เนื้อหาของข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีสมบัติการย่อยสลายได้ในร่างกาย ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำเพื่อนำวัสดุที่ใช้ในการรักษาเสร็จแล้วออกจากร่างกายผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้สารตั้งต้นบางส่วนที่มาจากวัตถุดิบชีวมวล ดังนั้น 4 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จึงร่วมมือสร้างโรงงานต้นแบบ การผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสำหรับการผลิตวัสดุการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO 13485

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “มช. มีนโยบายการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคมภาคการผลิตและการบริการ ดังนั้นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร. วินิตา บุณโยดม และคณะผู้วิจัย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการมานานกว่า 15 ปี ได้ทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก มช. รวมทั้งหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนสามารถคิดค้นตัวริเริ่มปฏิกิริยาตัวใหม่ เพื่อใช้ในการผลิตมอนอเมอร์และพอลิเมอร์ สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และได้มุ่งเน้นการนำไปใช้งานด้านวัสดุทางการแพทย์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นจำนวนมาก สามารถออกแบบโครงสร้างได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ดังนั้น มช. จึงได้ตัดสินใจในการร่วมสนับสนุนงบประมาณในการสร้างและปรับปรุงพื้นที่ของโรงงานต้นแบบ ให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้งานทางการแพทย์เพื่อการวิจัยและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า “วช. ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย ที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีสำคัญเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งทางด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรและผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับ  สนช. จัดทำโครงการสานเกลียววิจัยคู่นวัตกรรมด้านพลาสติกชีวภาพขึ้นมา โดย วช. สนับสนุนการวิจัยพื้นฐานในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ผลการดำเนินงานที่สำคัญที่เกิดจากการสนับสนุนโครงการวิจัยการสังเคราะห์เม็ดพลาสติกชีวภาพให้กับกลุ่มนักวิจัยของ ผศ.ดร. วินิตา บุณโยดม ดังนั้น วช. จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้สนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาได้แก่ สนช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ให้ทุนสนับสนุนการสร้าง “โรงงานต้นแบบการผลิตพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงสำหรับใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์” ในวงเงิน 28 ล้านบาท  ซึ่งจะเป็นโรงงานต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO 13485 สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพเกรดทางการแพทย์  เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ ถือเป็นการลดอัตราการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์จากพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยอีกด้วย

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์  ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนช. กล่าวว่า “รัฐบาลได้กำหนดนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ (New Wave Industry) ของประเทศไทย และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร ภายใต้แผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ความร่วมมือในการสนับสนุนโรงงานต้นแบบนี้ เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือกันอย่างดียิ่งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้ริเริ่มและเป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกันและต่อยอดอย่างบูรณาการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสามารถช่วยผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสากล สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ สามารถลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สนช. มีกลไกการสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคเอกชนที่มีความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุและเครื่องมือแพทย์จากพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้มีความแข็งแกร่งและสามารถเป็นผู้นำในการแข่งขันได้ในภูมิภาค”

ดร. วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลใส่ใจในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. ที่จะพัฒนาให้เป็น Eco Industrial Area ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการสร้าง Low Carbon Society เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกันไปทั้งธุรกิจ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Green Growth Roadmap พลาสติกชีวภาพจึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้ประกาศการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย จึงได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยกับกลุ่มนักวิจัยของ ผศ.ดร. วินิตา บุณโยดม มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ในโครงการการขยายสเกลการสังเคราะห์แลคไทด์จากแลคติกแอซิดโดยกระบวนการแบบกึ่งกะ และโครงการการสังเคราะห์พอลิแลคไทด์และโคพอลิเมอร์สำหรับประยุกต์ทางการแพทย์ จนสามารถต่อยอดผลงานวิจัยเป็นโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์

            ที่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียมกับต่างประเทศนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ รวมทั้งลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ของที่ผลิตในประเทศโดยในอนาคตจะสามารถใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาและเทคโนโลยีของคนไทย..

สำคัญมากตรงนี้ครับ

ขอขอบคุณ ข่าวจากงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียงและรายงานโดย อรุณ ช้างขวัญยืน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ