วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ฟ้อง8แสนราย เบี้ยว กู้เงินเพื่อการศึกษา กยศ.ลงดาบซ้ำ ประสานมหาดไทยไม่ต่ออายุบัตรประชาชน

28 มี.ค. 2016
294
Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

ฟ้อง8แสนราย เบี้ยว กู้เงินเพื่อการศึกษา กยศ.ลงดาบซ้ำ ประสานมหาดไทยไม่ต่ออายุบัตรประชาชน

เรื่องนี้พูดกันมานานจนเบื่อ เรืองที่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนไม่มีเงินเรียน ขอกู้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)แต่หลังจบการศึกษามีงานทำแล้วไม่ใช้หนี้ วันนี้มีข่าวเพิ่มเติมว่า

เมื่อวันศุกร์ที่25 มีนาคม 2559มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “กยศ. กรอ. เพื่อชาติ” ระหว่างกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) กับหน่วยงานองค์กรนายจ้าง 36 แห่ง เพื่อรณรงค์สร้างวินัยทางการเงินให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระเงินคืนกองทุนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้อง ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง

ภายหลังลงนาม นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ กยศ. กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาข้อกฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. แต่ไม่ชำระเงินคืนเงินให้กองทุน โดยจะประสานกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืม หากพบว่าไม่ชำระเงินกองทุน ก็จะไม่ต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนทันที แต่คงต้องดูข้อกฎหมายอีกครั้งว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ กยศ.ประสานองค์กรนายจ้างทั้งรัฐและเอกชนกว่า 36 แห่ง ตรวจสอบรายชื่อเจ้าหน้าที่และพนักงานในสังกัดผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ แต่ไม่ชำระเงินคืน เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในองค์กรหรือไม่ หากพบว่าอยู่ในองค์กร ก็ต้องนำมาเข้าโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ เพื่อรณรงค์สร้างวินัยทางการเงินภายในวันที่ 30 ก.ย.2559

“ทนไม่ได้ที่มีกลุ่มคนบางคนที่ได้รับประโยชน์จากเงินภาษีจากประเทศ มีหน้าที่การงานที่ดี ทั้งข้าราชการ ภาคเอกชน แต่กลุ่มคนเหล่านั้นลืมไปว่าเขาได้ดีในวันนี้เพราะเงินภาษี แม้จะได้ดีมีเกียรติในสังคม แต่ทำให้ลูกหลานไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะเงินที่กองทุน กยศ.มีเป็นมาเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งถือว่าผิดอย่างมหันต์ การเดินหน้าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีสำนึกเป็นประชาชนที่ดีของประเทศ โดยการทำข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงพลังว่าไม่อยากเห็นคนกลุ่มนั้นยืนบนสังคมได้อีกต่อไป” นายสมชัยกล่าว

และกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กยศ.มีผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปกว่า 4.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โดยเงินที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุน จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อไป

นายสมชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันข้าราชการที่เป็นหนี้ กยศ.มีอยู่ 7 หมื่นราย ต้องเข้าระบบให้หมด ผ่านการหักบัญชีเงินเดือน และจะมีเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ทั้งผ่อนปรนที่จะเสียค่าปรับตั้งแต่ 50% หรือ 100% ขึ้นอยู่กับบางกรณี โดยจะให้เวลาถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ หากยังไม่เข้าโครงการต่อไปจะใช้วิธีทางกฎหมาย และได้มอบหมายให้ กยศ.ศึกษากลุ่มสาขาให้กู้กลุ่มที่ยังขาดแคลน อาทิ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อาจระบุสาขาที่ไทยยังขาดแคลน เช่น นักบินและวิศวกรหุ่นยนต์ โดยจบไปแล้วจะมีงานรองรับแน่นอน เรียกว่าใช้เงิน กยศ.ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสมอง

ประธาน กยศ.ยังกล่าวว่า ได้สั่งให้ศึกษาการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) หากทำได้ในอนาคตกองทุนจะไม่ต้องพึ่งงบประมาณภาครัฐ โดยต้องทำให้หนี้ดีเยอะๆ จะได้ขายออกไปได้ และจากการให้ที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาประเมินเบื้องต้นยังมีอุปสรรคอยู่ โดยการแก้ไขกฎหมาย กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมาตรการเกี่ยวกับให้นายจ้างหักเงินส่งกรมสรรพากรด้วย ซึ่งจะทำให้หนี้ดีเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการทำซีเคียวรีไทเซชัน และต่อไปจะมีกฎหมายบังคับยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีหักเงินลูกจ้างให้กองทุนด้วย

ทางด้าน น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน กยศ.กล่าวว่า กยศ.มีผู้กู้ยืมกว่า 4.5 ล้านราย มีผู้ที่ครบกำหนดชำระไปแล้ว 3 ล้านราย ปัจจุบันคงเหลือ 2 ล้านรายที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้คืน คิดเป็นมูลหนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นลูกหนี้ปกติ 1 ล้านราย ลูกหนี้ที่เข้าโครงการไกล่เกลี่ย 1 แสนราย

อีก 8 แสนราย อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยปี 2558 ได้เงินหมุนกลับคืนมาจากการชำระหนี้กว่า 1.7 หมื่นล้านบาทแล้ว  เพิ่มมาจากปีก่อน 4 พันล้านบาท

“ปีการศึกษา 2559 มีกรอบการปล่อยกู้ในโครงการ กยศ.2.7 หมื่นล้านบาท กรอ.9.5 พันล้านบาท โดยได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลในโครงการ กยศ.1.3 หมื่นล้านบาท และ กรอ.5.5 ล้านบาท

ส่วนแผนดำเนินงานเพื่อลดปัญหาลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้คืน คือ จะเริ่มดูเกรดนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นตัวยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีความตั้งใจเรียนเริ่มในปี 2559 และในปี 2561 จะทำข้อมูลลูกหนี้เข้าสู่ระบบเครดิตบูโร”

ผมขอตั้งข้อสังเกต เพราะเป็นเรื่องจริงที่มีประสพการณ์ในเรื่องนี้  เคยเข้าไปคลุกคลีกับผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาที่กู้เงินแล้วบุตรหลานทิ้งภาระให้  เพราะ ผู้ใช้บริการ เงินกู้ กยศ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีฐานะยากจน และผู้มีฐานะยากจนที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษาที่ใช้บริการส่วนใหญ่ ก็จะเป็นผู้ที่ด้อยการศึกษาเสียด้วย  จึงไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรของบุตรหลานมากนัก เมื่อบุตรหลานพากันไปกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปทำรายการอะไรต่างๆให้ผู้ปกครองลงนามก็ลงนามให้ไป มากรายที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย คิดว่า บุตรหลานมีการศึกษา รู้เรื่องดี คงจะไม่ทำเสียหาย เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นมาก็มีปัญหา

             ไม่อยากจะเขียนให้กระทบกระเทือนใจใคร แต่อยากฝากว่าสถาบันการศึกษาทีนักเรียนนักศึกษาเรียนอยู่และนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นกู้เงินเรียน ต้องหาวิธีที่จะให้ผู้ปกครองได้รู้ขั้นตอน เรื่องราว อะไรต่อมิอะไรให้มากกว่าเดิม เพราะผู้ปกครองที่ใกล้ชิดนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นจะคอบกำกับดูแลเร่งรัดให้ชำระหนี้ หรือยอมรับชำระหนี้แทน เนื่องจาก ภาระการส่งเสียเล่าเรียนเป็นของผู้ปกครอง เมื่อไม่มีเงิน ต้องไปกู้มาเรียน ก็ต้องคิดว่าเป็นภาระของตนเองด้วย

 

ขอขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสท์ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ