วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

พรบ.ทวงหนี้-กฎหมายเอาใจคนจนมาแล้ว

Spread the love

พรบ.ทวงหนี้-กฎหมายเอาใจคนจนมาแล้ว

scoop

ห้าม ตำรวจ ทหาร รับจ้างทวงหนี้  ฝ่าฝืน เจอคุก

  ข่าวดีครับ มีรายงานข่าวว่า พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2558 ลูกหนี้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานคอยหลบซ่อนจากการถูกนักเลง ผู้แทนไฟแนนซ์ แม้กระทั่งทนายความทวงถามหนี้สินอย่างบ้าเลือด ใช้คำพูดและกิริยาข่มขู่คุกคาม ประจานให้อับอายด้วยจดหมายเปิดผนึก บัดนี้ถึงเวลาลืมตาอ้าปาก ชดใช้หนี้จำนวนตามความจริงไม่ต้องหวาดกลัวอีกต่อไป ตำรวจทหารรับจ้างทวงหนี้ไม่ได้แล้ว ระวังจะเจอคุกเอาง่ายๆ

         ข่าวดีแบบนี้ ต้องบอกกันหน่อย

กระแสข่าวรัฐบาล ทำคลอดกฎหมาย พ.ร.บ.ทวงถามหนี้  ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค. โดยมีรายงานจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่จะออกมาบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ย.2558 เป็นต้นไปนี้  จะมีสาระสำคัญดังนี้

          มาตรา 5 บุคคลผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ ต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน   

         มาตรา 6 กรณีผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ที่เป็นทนายความ ให้จดทะเบียนกับสภาทนายความ

          มาตรา 29 ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจรับร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

           มาตรา 39 ผู้ฝ่าฝืนไม่ไปจดทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

            ในส่วนของวิธีการทวงนี้มี มาตรา 11 ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาดูหมิ่น แจ้ง หรือเปิดเผยตัวลูกหนี้ ใช้ข้อความสื่อความหมายในการทวงถามไม่เหมาะสม

          มาตรา 12 ห้ามทวงถามหนี้ที่เป็นเท็จ อ้างว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ ทนายความ สำนักงานกฎหมาย อ้างว่าถ้าไม่จ่ายจะถูกดำเนินคดี หรือถูก อายัดเงินเดือน

        มาตรา 13 ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินกำหนด

        มาตรา 14 สำคัญมาก  เพราะ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ(ประเภท ทหาร ตำรวจ) ไปทวงถามหนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง

         มาตรา 23 ให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนจากพฤติกรรมดังกล่าวไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการติดตามการทวงถามหนี้ หากถูกละเมิดสิทธิ์ และหากผู้ทวงหนี้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ต้องระวางโทษจำคุก 3-5 ปี หรือปรับ 300,000-500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีบทห้ามทวงหนี้นอกเวลาทำการเป็นต้น

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้มีการจัดอบรมทนายความทุกภูมิภาคเพื่อทำความเข้าใจ โดยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ จ.อุดรธานี ได้ร่วมกับผู้ประกอบการทวงหนี้ที่มิใช่ทนายความ อบรมเรื่อง “ทวงหนี้อย่างไรไม่ติดคุก” เป็นการป้องปรามการทวงถามหนี้ที่เกินความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ การยึดทรัพย์สิน เช่น รถที่เช่าซื้อ บางรายถึงขนาดกระโดดเกาะรถ หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ โดยหลักการของการทวงถามหนี้ทางแพ่งจะใช้มาตรการทางอาญามาบังคับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางศาลในการทวงถามหนี้ การข่มขู่ทุกรูปแบบ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญา เป็นการละเมิดสิทธิลูกหนี้ การทวงถามหนี้ที่ไม่ถูกที่ถูกเวลาก็เป็นเหตุหนึ่งที่นำมาบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้

เพราะฉะนั้น การทวงถามหนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพทวงถามหนี้ที่ไม่ใช่ทนายความหรือเป็นทนายความ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของสภาทนายความที่ต้องอยู่ในกรอบ ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางอาญา โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับหนี้นอกระบบ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ทำให้สังคมเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมายด้วยหลักนิติธรรมที่แท้จริง

นายวีระศักดิ์ โชติวานิช ทนายความชื่อดัง  วิทยากรอบรมทนายความ เรื่อง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ กล่าวว่า กฎหมายแบ่งเป็นสองส่วนส่วนแรก ใช้กับคนทั่วไป ส่วนที่สองใช้กับทนายความ ส่วนแรกบังคับบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพทวงหนี้เปิดบริษัทรับติดตามหนี้สิน รับคดีมาจากสถาบันการเงินเป็นลอตๆ การทวงหนี้ต้องไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของมหาดไทย ส่วนทนายความต้องไปขึ้นทะเบียนกับสภาทนายความ กรณีเปิดสำนักงานและรับติดตามหนี้สิน และมีขั้นตอนปฏิบัติการติดตามทวงถามแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป และไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือทนายความต้องไปขึ้นทะเบียน หากฝ่าฝืน หรือไปทวงหนี้ขัดต่อกฎหมายฉบับนี้มีโทษจำคุก 3-5 ปี ถ้าเป็นทนายความติดคุกจริงก็ต้องถูกลบชื่อ หากศาลรอการลงโทษ ก็ดูเป็นรายๆ อาจจะถูกพักใบอนุญาตก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองใครบ้าง นายวีระศักดิ์กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วคุ้มครองประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการทวงหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ การทวงหนี้ต้องไม่กระทำเปิดเผย การใช้ซองจดหมายจะเปิดผนึกไม่ได้ ใช้ไปรษณียบัตรหรือมีข้อความให้รู้ว่าเป็นการทวงหนี้ไม่ได้ การทวงหนี้ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เกินเวลา 18.00 น. ทวงไม่ได้ ต้องใช้กิริยาสุภาพ

            ส่วนที่มองว่ากฎหมายฉบับนี้ไปส่งเสริมลูกหนี้  นายวีระศักดิ์กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง  กฎหมายฉบับนี้ดีต่อสุภาพชน แต่เป็นปัญหาเพิ่มภาระเพิ่มการสุ่มเสี่ยง กับทนาย ส่วนพวกทวงหนี้นอกระบบก็อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และนอกจากกฎหมายจะคุ้มครองลูกหนี้แล้ว ยังคุ้มครองผู้ค้ำประกันด้วย

“นอกจากมี พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ที่พูดกันอยู่นี้ ยังมีกฎหมายเก่าที่แก้ไขใหม่ คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ หมายความว่าถ้าทนายความหรือเจ้าหนี้ทำหนังสือทวงหนี้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าฝ่ายผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือทวงหนี้หรือยัง ถ้ายังไม่ได้รับแล้วเกิดไปทวงก่อนกำหนดก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีผลกระทบตามมา

       ต่อไปนี้ไฟแนนซ์จะทวงหนี้นอกเวลา กระโดดเกาะรถ ดึงกุญแจ ทำไม่ได้ บางทีผู้ใหญ่บ้านตามต่างจังหวัดปรารถนาดีออกเสียงตามสายว่า ให้นาย ก ลูกหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ธนาคารหรือไฟแนนซ์อยู่ให้รีบไปเคลียร์เสีย อย่างนี้ก็ไม่ได้

         ส่วนทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รับจ้างติดตามทวงหนี้ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไปเพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายฉบับนี้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกถึง 5 ปี ปรับถึง 5 แสนบาท” นายวีรศักดิ์กล่าว

          อ่านแล้วก็พอมองออกว่า กฎหมาย ให้ความคุ้มครองลูกหนี้มากก็จริง แต่ลูกหนี้ก็มิควรดีใจว่า ต่อไปนี้จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหนี้ แล้วจะถือโอกาสเบี้ยวหนี้ งอแง ไม่ใช้หนี้ ไม่ได้นะครับ หนี้ก็ยังคงเป็นหนี้ เพียงแต่ กฎหมายต้องการให้ทั้งสองฝ่ายซื่อตรงต่อกัน ลูกหนี้ก็ต้องชำระหนี้เหมือนเดิม ถ้าหากพบตัวเลขที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง เช่น ค่าติดตามทวงถามขึ้นพรวดๆทั้งที่ยังไม่เคยติดตาม ถือเป็นการเอาเปรียบ เป็นการพอกหนี้ แบบนี้ก็ต้องใช้สิทธิ์ขอตรวจสอบ โดยติดต่อกับผู้รับผิดชอบ

        สำคัญมากคือถ้าลูกหนี้ซื่อสัตย์ จ่ายจริง จ่ายครบ ตรงเวลา บรรดาค่าใช้จ่ายพิสดารก็เกิดไม่ได้ เจ้าหนี้ก็คงมีมารยาทพอที่จะไม่โหดร้ายกับลุกหนี้หรอกครับ อ่านเรื่องนี้แล้ว ลองไปหากฎหมายฉบับเต็มๆมาอ่านดู และศึกษาดูอีกทีว่า มีขั้นตอนอะไร แบบไหน อย่างไร นะครับ ขอให้โชคดี

 

 ขอขอบคุณข่าวจากสำนักข่าวอิศรา

เรียบเรียงและรายงานโดย อรุณ ช้างขวัญยืน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ