วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล

17 พ.ย. 2012
244
Spread the love

คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา รับฟังแนวโน้ม

และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล ในจังหวัดเชียงใหม่

 

คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา ประชุมร่วมกับ 3 ฝ่ายในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทในวันที่ 1 มกราคม 2556

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้(16 พ.ย.55) ที่ห้องประชุม 3 นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ประธานกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา ประชุมร่วมกับ นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปในการติดตามสถานการณ์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศจะขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ว่าส่งผลกระทบกับสถานประกอบกิจการ และลูกจ้างอย่างไรบ้าง รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง เพื่อเสนอทางออกหรือมาตรการช่วยเหลือต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อมิให้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีสถานประกอบกิจการ 8,500 กว่าแห่ง มีลูกจ้างราว 135,000 คนเศษ มีการจ้างแรงงานเด็ก ในกิจการประเภทปั๊มน้ำมันและโรงงานแปรรูปอาหาร ประมาณ 265 คน ไม่มีปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือการค้ามนุษย์ ซึ่งในภาพรวมจากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของรัฐบาล ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะสถานประกอบกิจการหลายแห่ง ได้มีการปรับตัวตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว จะมีผลกระทบบ้างส่วนใหญ่เป็นในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs และสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก ซึ่งพยายามปรับตัวเองอยู่เช่นเดียวกัน และจากนโยบายดังกล่าว ยังไม่มีการร้องเรียนจากผู้ประกอบกิจการที่เป็นไปผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จึงยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานเสียด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ดีในภาคผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อเสนอให้ทางรัฐบาล ได้จัดตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการประเภท SMEs ให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ และไม่ปิดตัวเองจากการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล โดยทางคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา จะรับข้อเสนอแนะของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนลูกจ้าง พร้อมจะประมวลปัญหา ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาสถานประกอบกิจการในภาพรวม นำเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาต่อไป

 

ขอบคุณข่าว จาก ชูโชค  ทองตาล่วง  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ