วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ปิดเพจด่านเชียงใหม่ คุกคามเสรีภาพประชาชนหรือ..อย่างไร

15 มิ.ย. 2015
238
Spread the love

ปิดเพจด่านเชียงใหม่

คุกคามเสรีภาพประชาชนหรือ..อย่างไร

ด่านเชียงใหม่

 

วันนี้ผมขอคัดลอกข่าว จากสำนักข่าวCNXของเรามาให้ท่านอ่านก่อนนะครับ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558 เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญตัวเยาวชน (อายุ17ปี 1คนอายุ16ปี 2คน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแอดมิน หรือผู้ดูแล เพจ ชื่อ ด่านเชียงใหม่มาสอบปากคำ   กรณีเปิดไลน์ และเฟสบุ๊คชื่อ ด่านเชียงใหม่  แจ้งเตือนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรเชียงใหม่ว่า ตั้งด่าน ณ จุดไหน เวลาเท่าไหร่

           การเชิญตัวมาครั้งนี้เนื่องมาจาก   พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกมากล่าวถึงกรณีที่ปัจจุบันมีเพจเฟซบุ๊กจำนวนมาก ตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าจะเป็นด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ด่านความมั่นคง ด่านกวดขันวินัยจราจร ซึ่งบางเพจมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากถึงหลักแสนคนและเพจดังกล่าวได้ส่งข้อความเตือนสมาชิกของเพจ ให้หลบหลีกการสัญจรไปมาที่จะต้องผ่านด่าน เพราะจะต้องถูกตรวจสอบ หากมีความผิดตามกฏหมายจราจรข้อใดข้อหนึ่ง หรือเมาสุรา หรือมีปริมาณแอลกอฮอร์ในร่างกายเกินที่กฏหมายห้ามไว้ก็จะต้องมีโทษตามที่ระบุในกฎหมาย

แต่การกระทำที่แจ้งเตือนสมาชิกเพจมิให้ผ่านด่านดังกล่าวเป็นการกระทำที่จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียหาย เพราะผู้ที่รู้ตัวว่ากระทำผิด จะหลบหนีไปในเส้นทางอื่นเมื่อได้รับการแจ้งเตือน

ซึ่ง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปตรวจสอบหา เพจ หรือเว็บไซต์เหล่านี้ เพราะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ทั้งนี้ ผบ.ตร. กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งเวลา และสถานที่นั้น ถือเป็นข้อมูลด้านความมั่นคง หากมิจฉาชีพ หรือคนร้ายนำข้อมูลนี้ไปใช้หลบเลี่ยงด่าน หรือหนีการถูกจับกุม ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลถือว่าสนับสนุนการกระทำผิด จะต้องรับโทษทางอาญาด้วย

         จึงเป็นที่มาของการเชิญตัวผู้ดูแลเพจลักษณะดังกล่าว มาพบเจ้าหน้าที่เพื่อว่ากล่าวตักเตือนที่เชียงใหม่ ได้มีการเชิญตัวเยาวชน จำนวน 3ราย เข้าพบและสอบปากคำ   โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบแล้วว่า ทั้ง 3 คนได้เป็น แอดมิน เพจเฟซบุ๊กชื่อว่า ด่านเชียงใหม่และกลุ่มไลน์ ที่ใช้ชื่อว่า ด่านเชียงใหม่ ได้เขียนข้อความเป็นโค๊ตหรือรหัส เพื่อแจ้งเตือนบอกสมาชิกถึงจุดตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  และแอดมินเพจรายนี้มีความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถ จึงทำความเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมเพราะอาจจะเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด ซึ่งเยาวชนทั้ง3เข้าใจจึงได้สั่งการให้ปิดเพจเป็นการเรียบร้อยแล้ว

         ทราบต่อมาว่าหลังจากที่เพจดังถูกเชิญตัวมาสอบปากคำ ทำให้เพจที่ทำมาลักษณะเดียวกันนี้ ทราบข่าว ก็ได้ทำการปิดตัวลงไปตาม ๆ กัน

อ่านข่าวแล้วคงจะพอเข้าใจนะครับ ไม่มากก็น้อยเพราะจากการที่ ผบ.ตร.ออกคำสั่งมา มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก บ้างก็ว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาพูดถึงความเสียหายในการที่ข้อมูลการตั้งด่านรั่วโดยมีบุคคลแจ้งเตือนกันส่งผลไปถึงคนร้ายจริงๆเมื่อทราบข้อมูลก็จะพากันหลบหนีในมุมมองของผม ถือว่าน่าเห็นใจตำรวจเช่นกัน

              เรื่องแบบนี้มีมุมมองต่างกันแต่ผมก็มีคำเตือนของคุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ได้เคยเตือน โดยให้ความรู้ตามข้อกฎหมายไว้นานแล้ว   แม้ว่าความผิดจะไม่เหมือนกันแต่ก็น่าสนใจจึงขอนำมาเผยแพร่ครับ

การเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ หากเป็นข้อมูลที่หมิ่นเหม่ต่อการทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

คุณไพบูลย์บอกว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ โทษค่อนข้างสูง จำคุกตั้ง 5 ปี คนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะการตั้งกระทู้ ถ้าปล่อยให้มีการตั้งกระทู้ที่มีการใส่ความบุคคลอื่น หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจเป็นความผิดในฐานผู้ให้บริการ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ด้วย

ส่วนคนที่เห็นภาพแล้วมีการส่งภาพต่อๆ กัน บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ โดยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(5) “เผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวงเล็บ 1 วงเล็บ 2” แต่ในส่วนนี้จะมีกระบวนการที่ยุ่งยาก เพราะต้องพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล หากผิดจริงก็ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับผู้ทำผิดมาตรา 14

สุดท้าย คุณไพบูลย์เตือนอีกครั้งว่า หากเห็นภาพ หรือการโพสต์ข้อความที่ไม่แน่ใจในเจตนา หรือข้อเท็จจริง ไม่ควรเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าจะทางไลน์ ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือตั้งกระทู้ คอมเมนต์ในเว็บบอร์ดต่างๆ แม้จะไม่ได้ถูกฟ้องร้องโดยตรง แต่ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

สอดรับกับหลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้าว่าด้วยวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัยหรือหลักความเชื่อ 10 ประการ ซึ่งยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคที่การแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้กลายเป็นโรคระบาดไปแล้ว

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา

2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา

3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ

4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ

6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

 

         หากใครไม่อยากถูกจับ หรือถูกฟ้องร้องในข้อหาร้ายแรงจากการเผยแพร่สิ่งต้องห้ามโดยไม่รู้ตัว โปรดท่อง “10 อย่า” ในข้างต้นนี้ให้ขึ้นใจ

         

ขอขอบคุณข้อมูลของ สำนักข่าวอิศรา  และสำนักข่าว CNX

อรุณ ช้างขวัญยืน.เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ