วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ปอกเปลือกชิงโชคทาง EMS ใครมีโชค ใครเสียโชค

27 มี.ค. 2015
283
Spread the love

ปอกเปลือกชิงโชคทาง   EMS

       ใครมีโชค ใครเสียโชค

ชาเขียว

                 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การตลาดใต้ฝาชาเขียวสร้างกระแสนิยมและเกรียวกราวในหมู่คนไทยที่หวังรวยทางลัด หากเข้าไปดูเฟสบุ๊คของบริษัทชาเขียวที่กำลังจัดชิงโชคจะเห็นยอดไลค์หลักหมื่นในแต่ละสเตตัส บ้างก็หลักแสน นี้คงสะท้อนในระดับหนึ่งว่าคนไทยนิยมเสี่ยงโชคมากเพียงไหน

แต่ ไม่ใช่เพียงเครื่องดื่มชาเขียวนะครับ  กล่าวได้ว่าสินค้าและบริการหลากหลายชนิดต่างหันมาใช้การส่ง SMS เพื่อชิงโชค ชิงรางวัล เป็นช่องทางจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกันแทบทั้งนั้ย  ตั้งแต่น้ำดื่ม ขนม บริการท่องเที่ยว แชมพู ฯลฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีการส่ง SMS ค่อนข้างสะดวกและไม่ยุ่งยากเหมือนในอดีตที่ต้องส่งผ่านไปรษณียบัตร ทำให้ผู้บริโภคนิยมร่วมกิจกรรมมากกว่าแต่ก่อน

ประเด็นก็คือ การแพร่ระบาดของการจัดชิงโชคผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะสินค้าชาเขียวเพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้สินค้าหลายประเภท ไม่เว้นแต่รายการเล่าข่าวตามสถานีโทรทัศน์ ต่างใช้กลยุทธ์นี้ในการส่งเสริมการตลาด จึงมีผู้วิตกกังวลว่า การชิงโชคลักษณะนี้ซึ่งไม่ต่างกับการพนันรูปแบบหนึ่งย่อมเท่ากับเป็นการส่งเสริมการพนันให้แพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง   ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการสร้างมาตรการควบคุมดูแลให้การพนันหรือชิงโชคผ่านเอสเอ็มเอสให้อยู่ในขอบเขตและลดผลกระทบ ทว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

           ตัวเลขจำนวนประชากรไทย ณ ปี 2556 ประมาณ 67 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อต้นปี 2557 ที่รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีจำนวนทั้งสิ้น 93.7 ล้านเลขหมาย

             และตัวเลขข้างต้นอาจไม่ได้แสดงนัยยะ สำคัญอะไรนักหนา แต่ข้อมูลเหล่านี้ซีครับ

ปกติแล้วอัตราค่าส่งข้อความทั่วไปของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คือ 1 บาท แต่อัตราค่าส่งข้อความเพื่อชิงรางวัลจะตกที่ 3 หรือ 6 บาท ซึ่งทางบริษัทผู้ให้บริการฯ กับผู้จัดให้มีการชิงโชคหรือ Content Provider จะแบ่งสัดส่วนรายได้กันคนละครึ่ง ลักษณะเช่นนี้จึงเข้าข่ายเป็นการพนัน

          สำหรับการชิงโชคผ่านฝาชาเขียว ดูเหมือนว่าประชาชนผู้ส่งจะฟรีค่าบริการ แต่ก็ไม่ต้องไปคิดแทนหรอกนะครับว่า ฝ่ายเจ้าของชาเขียว เขาจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร เช่น ค่าบริการ SMS  จะทำกันอย่างไร เมื่อไม่มีรายได้จากค่าส่ง เพราะทางฝ่าชาเขียวสามารถยินดีจ่ายแทนผู้ชิงโชคได้ และไม่ต้องการส่วนแบ่งรายได้จากการส่งด้วย เพราะทางฝ่ายชาเขียวขายชามีกำไรมหาศาลอยู่แล้ว

มี กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการใช้ SMS เพื่อชิงโชคคือการทายผลบอลรายการใหญ่ ฟุตบอลโลกปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการมูลค่าการชิงโชคทาง SMS ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะภายในกรุงเทพฯ สูงถึง 60 ล้านบาท โดยส่งเฉลี่ย 20 ครั้งต่อคน คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 30-60 บาท นี้คือส่วนที่ตั้งใจส่ง ขณะที่ความเสียหายอันเกิดจากความไม่ตั้งใจสมัครบริการส่งข้อความเพื่อชิงโชคตามการสำรวจของเอแบคโพลล์ในปีเดียวกันตกราว 83.50 บาทต่อคน

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในธุรกิจ SMS ชิงโชคเป็นขุมผลประโยชน์ใหญ่แหล่งหนึ่งที่การจะเข้าไปควบคุมอาจต้องพบกับด่านหิน เพราะไม่มีใครอยากเสียผลประโยชน์

            ปัจจุบัน ช่องทางที่มาของ SMS เพื่อการพนันหรือเสี่ยงโชค มีอยู่ 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

(1) โทรศัพท์มือถือ เป็นรูปแบบที่ผู้ให้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) เข้ามาสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นข้อความในลักษณะการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคสมัครบริการเพื่อเสี่ยงโชค เช่น กดหมายเลข xxx ลุ้นทองคำกว่าล้านบาท เป็นต้น

2) เว็บไซต์ เป็นรูปแบบที่ให้ผู้บริโภคเข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ แล้วระบบจะส่งข้อความสั้น (SMS) ตอบกลับมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้ผู้บริโภคยืนยันการสมัครใช้บริการโดยการกดส่งข้อความสั้น (SMS) ตอบกลับไปยังระบบ เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะไม่แจ้งเงื่อนไขและวิธีการใช้บริการโดยละเอียดให้ผู้บริโภครับทราบ สำหรับรูปแบบการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อชิงรางวัลในเว็บไซต์มีทั้งการพิมพ์ข้อความเพื่อตอบปัญหาชิงรางวัล และการประมูลสินค้าในราคาที่ต่ำที่สุด

(3) รายการโทรทัศน์ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการพิมพ์ข้อความสั้น (SMS) เพื่อแสดงความคิดเห็น ตอบคำถามชิงรางวัล หรืออยู่ในรูปแบบของการประมูลสินค้าทางเคเบิลทีวี กิจกรรมให้ผู้ชมรายการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ และกำหนดกติกาให้ผู้ชมรายการที่กดส่งข้อความสั้น (SMS) เร็วที่สุดจำนวน xx คน เป็นผู้ได้รับของรางวัลตามที่รายการกำหนด

(4) กิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เช่น การทายผลกีฬาในเทศกาลการแข่งขันต่างๆ การจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคโดยการส่ง รหัส มาทางช่องทาง SMS ไปยังหมายเลขที่กำหนด

ทางด้านผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสามค่ายใหญ่เห็นตรงกันว่า ปัญหา SMS เป็นเรื่องใหญ่และน่าวิตกกังวล มีผู้ใช้บริการที่เดือดร้อนและร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางผู้ประกอบการมีช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถยกเลิก SMS ได้ไม่ว่าจะเป็น SMS

อย่างไรก็ตาม การควบคุม SMS ยังคงมีช่องโหว่ที่แม้แต่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่สามารถจัดการได้ ช่องโหว่ดังกล่าวคือการส่ง SMS จากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า Bounce เนื่องจากปัจจุบัน การส่ง SMSข้ามประเทศระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการในต่างประเทศสามารถทำได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการ SMS บางรายใช้วิธีนี้ ซึ่งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไม่สามารถคัดกรองเนื้อหาได้ และไม่รู้ด้วยว่า SMS นั้นถูกส่งมาจากที่ใด

นอกจาก SMS ที่มาจากต่างประเทศแล้ว SMS อีกประเภทที่ไม่สามารถตรวจสอบได้คือ SMS ที่ถูกส่งเหมือนการส่งข้อความตามปกติ คือปรากฏเบอร์โทรศัพท์ว่าส่งมาจากหมายเลขใด วิธีนี้จะไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือผู้ส่ง SMS เว้นเสียแต่จะผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าไปดูข้อมูลของผู้ใช้บริการ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย

ดังที่กล่าวไปตอนต้น เมื่อSMS ที่มีแนวโน้มจะส่งเสริมการพนันให้กว้างขวางขึ้น หลายฝ่ายจึงเห็นความจำเป็นในการควบคุมดูแล จากการศึกษากรณีตัวอย่างของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายและนโยบายด้าน Spam ที่ก้าวหน้าและครบถ้วนประเทศหนึ่ง ข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอคือการใส่สัญลักษณ์ในส่วนหัวของ SMS เพื่อระบุว่าเป็น SMS เพื่อการโฆษณาหรือบริการ

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังจัดตั้ง Australian Communications & Media Authority (ACMA) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชนของประเทศ โดยรวมเอาบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรดา E-Mail และ SMS Spam ต่างๆ ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยที่เห็นว่าควรมี Server Center เป็นศูนย์กลางหลักในการกำกับดูแลเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

ประเด็นสำคัญอีกประการคือตัวกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ที่แม้บางฝ่ายจะเห็นว่าสามารถตีความให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ แต่โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องว่ากฎหมายล้าหลังเกินกว่าจะก้าวทันโลกยุคใหม่แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายการพนันให้มีความทันสมัย ชัดเจน และปรับใช้ได้กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ฝ่ายผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบุว่า ยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือ และจะดียิ่งขึ้นหากภาครัฐจะออกกฎหมายหรือข้อปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็น Policy Guide Line ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการชี้แจงกับผู้ประกอบการ SMS ง่ายต่อการควบคุมดูแล และกำหนดได้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด

แน่นอนว่ายังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมาก เช่น รางวัลควรมูลค่าแค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นการพนัน ควรออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแล Spam หรือไม่ ค่าธรรมเนียมการขออนุญาตจัดชิงรางวัลที่รัฐได้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่ หรือการกำหนดอายุผู้ส่ง SMS ชิงรางวัล เป็นต้น แต่สังคมคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่ SMS   จะหมักหมมปัญหามากกว่านี้จนยากเยียวยาในอนาคต

 

                 อรุณ  ช้างขวัญยืน/รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ