ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Spread the love

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช้าง1

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ตัวแทนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานด้านช้างเลี้ยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการอนุรักษ์ช้าง การจัดการปางช้าง และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันคชบาลแห่งชาติ  องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ ปางช้างแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานด้านช้างเลี้ยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ASEAN Captive Asian Elephant Working Group  Meeting)ขึ้น ในวันที่11–12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ปางช้างแม่สา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากประเทศ เวียดนาม ลาว พม่า อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จำนวน 36 คน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

ผศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ  ทิตาราม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ช้างเลี้ยงในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญในด้านศาสนา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมป่าไม้ ประเทศไทยมีช้างเลี้ยงจำนวน 4,614 เชือก ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศเมียนม่าร์ ซึ่งมีประชากรช้างเลี้ยงมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ภายในประเทศอาจจะถูกยกเลิกภายใน 10-20 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นช้างเลี้ยงที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้ของเมียนม่าร์กว่า 5,500 เชือก อาจจะต้องตกงานและหันมาสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศไทย และอาจมีการเคลื่อนย้ายช้างเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จึงมีการเตรียมการจัดการปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว และเป็นการรับประกันคุณภาพชีวิตของช้างเลี้ยงเหล่านี้ ซึ่งช้างเลี้ยงในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็มีความสำคัญ สถานะทางการอนุรักษ์ การใช้งาน และปัญหาแตกต่างกันไป”

หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง กล่าวต่อว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรกโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  โดยมีการตั้งกลุ่มคณะทำงานช้างเลี้ยงในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ASEAN captive elephant working group; ACE-WG) ขึ้น เพื่อทำงานและการจัดการปางช้าง ควาญช้าง สุขภาพช้าง สวัสดิภาพช้าง การศึกษา และ การอนุรักษ์ เพื่อเป้าหมายที่จะยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของช้างในภูมิภาคนี้ โดยจะมีการจัดประชุมเพื่อวางแผน ติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานครั้งที่ 2 ที่ประเทศสิงคโปร์ การรวบรวมผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านช้างเลี้ยงเอเชีย โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการปางช้างมาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ จะช่วยป้องกันปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการจัดการที่ไม่ได้คุณภาพ และส่งเสริมสวัสดิภาพของช้าง ซึ่งประสบการณ์และความรู้ในด้านชีววิทยา สุขภาพ การจัดการ การอนุรักษ์ ฯลฯ ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านของการจัดการปางช้างในประเทศแถบเอเชีย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการช้างในสวนสัตว์ได้ในอนาคต ซึ่งนับเป็นการรักษาและอนุรักษ์ประชากรช้างไว้ในระยะยาว”

CNX NEWS รายงาน

11350024_996188300403013_1240715637_n (1) ช้าง1 ช้าง2 ช้าง3 ช้าง4 ช้าง5 ช้าง6