วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ประเทศไทยจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ไหม ??

Spread the love

ประเทศไทยจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ไหม ??

11037155_972675882805154_7297737300998732996_n

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เวลา 16.00 น. ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เพชฌฆาต” ขึ้น เพื่อถ่ายทอดประเด็น “การใช้โทษประหารชีวิต” และ “กระบวนการยุติธรรม” ผ่านภาพยนตร์ พร้อมร่วมเสวนากับนักแสดงนำ นักวิชาการ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ มช.)

 

ภาพยนตร์เรื่อง “เพชฌฆาต” ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2557 ภายใต้การกำกับของทอม วอลเลอร์ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวิล์ดพรีเมียร์ 2558 โดยภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของ “เชาวเรศน์ จารุบุณย์” เพชฌฆาตแห่งคุกบางขวาง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “คุกเสือใหญ่” จากชีวิตที่ผกผันของนักดนตรีหนุ่มผู้หลงใหลในเพลงร็อคแอนด์โรล แล้วเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนเองสู่การเป็นมือประหารเพื่อความมั่นคงของครอบครัวที่เขารัก ตลอดระยะเวลา 19 ปี เขาประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีการ ยิงเป้าไปทั้งสิ้น 55 ราย จนกระทั่งปี 2546 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 มาตรา 19 เปลี่ยนการประหารชีวิตจากการยิงเป้ามาเป็นฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2546 เขาจึงกลายเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายของเมืองไทย

 

นับเป็นปีที่ 13 แล้วที่มีการกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตยุโรปและสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิการมีชีวิต เป็นการทรมานร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะการประหารชีวิตไม่ได้ยับยั้งอาชญากรรมที่รุนแรง หรือทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลังและการส่งเสริม วงจรการใช้ความรุนแรง โดย นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าจากงานวิจัยงานวิชาการ สถิติ และทางอาชญาวิทยาชี้ว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่มีนัยสำคัญ ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของคดีอาชญากรรม การพรากชีวิต การลงโทษด้วยการประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้บอกว่าผู้กระทำความผิดเหล่านั้นไม่ได้ทำผิดและไม่ได้ยกโทษให้กับพวกเขา แต่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการลงโทษผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่การประหารชีวิต โดยอาจจะตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสกลับตัว พัฒนาคุณภาพชีวิต และมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้

นอกจากการฉายภาพยนตร์แล้ว ยังมีการนำเสนอนิทรรศการภาพ Death is Not Justice ผลงานศิลปะฝีมือนักออกแบบนานาชาติที่จัดแสดงมาแล้วทั่วโลกเพื่อร่วมกันส่งสารว่า “โทษประหารชีวิตไม่ใช่ความยุติธรรม ฉันไม่ต้องการให้มีการประหารในนามของฉัน ในประเทศของฉัน และในโลกของเรา” และมีการเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตหลังการฉายภาพยนตร์จากนักแสดงนำและนักวิชาการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เชิญชวนให้เกิดการถกเถียงในสังคมและคิดทบทวนในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนนี้ เพื่อเปิดมุมมองที่หลากหลายในการนำไปสู่การเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

คลิ๊กชมภาพยนต์ได้ตามลิ้งค์
https://www.037hd.com/…/the-last-executioner-2015-%E0%B9%8…/

 

 สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ