วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ประธาน เสื้อแดง คาดหวังคดี 89ศพ คืบ

Spread the love

ประธาน”เสื้อแดง”คาดหวังคดี89ศพคืบ ศาลรับฟ้อง คดี “พัน คำกอง”ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ“ธาริต”ดีเอสไอลั่นคดีต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน 

เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 17 ก.ย.55 ศาลอาญานัดฟังคำสั่งที่พนักงานอัยการยื่นร้องต่อศาลให้ไต่สวนคดีที่นาย พัน คำกอง อายุ 43 ปี ชาว จ.ยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชปรารภ เมื่อเช้ามืดวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 จากการสลายการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่าสาเหตุการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ หากศาลเห็นพ้องตามที่อัยการเสนอและมีคำสั่งออกมา จะส่งสำนวนการไต่สวนกลับมาให้พนักงานอัยการเพื่อส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี98ศพดำเนินการต่อไป

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตนก็อยากจะคาดหวังไปในทางที่ดีว่าการวินิจฉัยในเบื้องต้นจะออกมาในลักษณะที่ว่าเป็นการ กระทำที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีหลายอย่างบ่งชี้ แต่อย่างไรก็ตามผลอาจจะออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

นางธิดากล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าการเสียชีวิตของนายพัน เกิดจากการกระทำของคนเสื้อแดงหรือชายชุดดำ เพราะความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า คนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ใช่กองกำลังที่ไหน

“เรื่องนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่การตัดสินคดี ถ้าศาลวินิจฉัยตามที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง คดีก็ต้องกลับมาที่ดีเอสไอ เพื่อทำเรื่องฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ ซึ่งฉันจะไปฟังการไต่สวนด้วย”นางธิดากล่าวทิ้งทาย

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า การมีคำสั่งของศาลในคดีนายพันนี้นับเป็นคดีแรกจาก 36 คดี ที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ เพราะเป็นการไต่ส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 150 ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสียขีวิตของประชาชน หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่าคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียชีวิต สำหรับขั้นตอน การดำเนินคดีตามมาตราดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องให้อัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการไต่ส่วน จากนั้นศาลจะมีคำสั่งออกมาตามขั้นตอนปกติ

“ยังเชื่อว่าศาลมีคำสั่งสอดคล้องกับสำนวนของพนักงานอัยการ ที่เชื่อว่าการเสียชีวิตของบุคคลดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ผมมีข้อกังวลในคดีดังกล่าว เพราะเป็นเหตุ การณ์ท่ามกลางความขัดแย้งไม่ว่าจะออกมาอย่างไรเชื่อว่าต้องมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจแต่อยากขอร้องให้สังคมทุกกลุ่มทุกฝ่ายเคารพกฎกติกาเพื่อความสงบสุขขอสังคมอยากให้ทุกฝ่ายเคารพคำสั่งศาล”
นายธาริตได้กล่าวต่อไปอีกว่าว่าหากศาลมีคำสั่งว่านายพันเสียชีวิตจากการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐ ขั้นตอนหลังจากนี้อัยการจะส่งคำสั่งการไต่สวนของศาลกลับมายังพนักงานสอบสวน เพื่อทำสำนวนคดีหลักคือคดีฆาตกรรม หลังจากนั้นต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าปฏิบัติการมีกฎหมายมาตรา 70 คุ้มครอง ร่วมถึงผู้ผ่านคำสั่ง แต่ไม่คุ้มครอง ผู้ออกคำสั่งการสูงสุดจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 288 และมาตรา 59 ที่เกี่ยวข้องกับเจตนาเล็งเห็นผลต่อการออกคำสั่งการ แล้ว ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้สั่งการสูงสุดหมายถึงนายกฯ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในขณะนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ.)

ดีเอสไอทำสำนวนคดีตามข้อเท็จจริง ไม่ได้คำนึงว่าจะถูกใจหรือไม่พอใจใคร ทุกอย่างว่าไปตามพยานหลักฐานเท็จจริง และหลังจากนี้เชื่อว่าในคดีอื่นๆ อีกกว่า 30 สำนวน ที่ศาลจะมีคำสั่งนั้น จะรวดเร็วมาก เพราะมีคดีของนายพันเป็นบรรทัดฐาน” นายธาริตกล่าว

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน