วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ประชุมซักซ้อมการเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน

Spread the love

 

                ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ประชุมซักซ้อมการเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ประชุมซักซ้อมการเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเชิญชวนประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ได้รับผลกระทบเข้าแสดงความคิดเห็น

เมื่อวันที่ (17 ต.ค.56) เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานดำเนินการจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กำหนดจัดขึ้นในพื้นที่ 35 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการ กลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นผ่าน Web site สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ http://www.wateropm.org/register/ และกลุ่มประชาชนที่สนใจเดินทางมาร่วมรับฟังในวันดังกล่าวโดยไม่มีการลงทะเบียนล่วงหน้า รวมทั้งสิ้น 2,000 คน โดยการจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการซักซ้อมการดำเนินการและมอบหมายภารกิจแก่คณะกรรมการและคณะทำงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้และมีประชาชนทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ได้รับผลกระทบมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวของรัฐบาล จากนั้น สบอช.จะประมวลความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสนอรัฐบาลเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการต่อไป

สำหรับกำหนดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ในภาคเช้าจะเริ่มในเวลา 08.00 น. จะเป็นการลงทะเบียนประชาชนที่ร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น และรับชมนิทรรศการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ซึ่งได้จัดแสดงขึ้นภายในงานด้วย จากนั้นในเวลา 09.00 น. จะเป็นพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ฯ การชี้แจงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ต่อด้วยการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยรวม 20 กลุ่ม ในประเด็นการแสดงความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การแสดงความคิดเห็นด้านความเดือนร้อนหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ ฯ และผู้เข้าร่วมเวทีแต่ละคนแสดงความคิดเห็นในแบบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนคนละ 1 ชุด หลังจากนั้นในเวลา 15.30 – 16.30 น. ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจะพร้อมกัน ณ เวทีใหญ่เพื่อร่วมสรุปความคิดเห็นต่อแผนแม่บทที่จะนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบโครงการต่อไป

การดำเนินงานโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤตการณ์อุทกภัยในปี 2554 ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 16,224,302 คน บ้านเรือนเสียหาย 5,247,125 หลังคาเรือน พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายสูงขึ้น 11.20 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ โดยมีสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดำเนินการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทยภายใน 5 ปี แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ 9 แผนงานหลัก (Module) ภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ดังนี้

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พื้นที่ A) ประกอบด้วย 6 Module ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นการดำเนินโครงการใน Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก เพื่อบริหารจัดการน้ำการชลประทานโดยเน้นการป้องกันน้ำท่วม ใช้งบ 48,550,894,000 บาท กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 ปี จำนวน 18 อ่าง โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาน ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ (พื้นที่ B) ประกอบด้วย แผนงานหลัก 3 แผนงาน ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานใน 17 ลุ่มน้ำ และ การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน