ประชุมจัดทำแผนและเตรียมความพร้อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควัน

Spread the love

                       จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมจัดทำแผนและเตรียมความพร้อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน

ผู้ว่าเชียงใหม่

 

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมจัดทำแผนและเตรียมความพร้อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา กำหนดขอบเขต รูปแบบในการกำหนดมาตรการ และจัดทำแผนเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่า

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2557 เวลา 13.30 น. นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2558 ครั้งที่ 1 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางจังหวัดแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกด้านจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน

นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ รายงานถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในปีนี้ว่า คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า PM10 สูงสุด 282 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศ เกินมาตรฐานไป 20 วัน เกิดไฟป่า 942ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหาย 9,147 ไร่ เกิด Hotspot (จุดความร้อนเผาในที่โล่ง) 2,381 จุด บางอำเภอ พบ Hotspot มาก ในขณะที่อีกหลายอำเภอพบการเกิดจุด Hotspot จำนวนน้อย ในส่วนของการแก้ไขปัญหา ได้มีการกำหนดวันแห่งการเฝ้าระวังและควบคุมหมอกควันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ภายใต้ชื่อ “ 80 วันแห่งการเฝ้าระวังและควบคุมหมอกควันไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ห้วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 เมษายน 2557 และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเพื่อลดความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น ในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ได้รับทราบถึงสถานการณ์ โดยในส่วนของของรัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงก็ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและตรวจติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การป้องกันแก้ปัญหาหมอกควันถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลกระทบตามมาหลายด้าน เบื้องต้นสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประสานความร่วมมือกันจัดทำรายละเอียดและแผนการดำเนินงานที่จะใช้ในการทำงานจริง โดยเฉพาะให้ลงรายละเอียดข้อมูลสภาพปัญหาและอุปสรรคของแต่ละอำเภอ เพื่อให้สามารถทำงานได้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ แบบทำได้จริงและเห็นผลจริง และเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงแนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปขยายผลในการขอความร่วมมือประชาชนในชุมชนของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่อไปซึ่งเบื้องต้นกำหนดจะจัดกิจกรรมรณรงค์การแก้ปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าวันที่ 4 พ.ย. กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์การเตรียมความพร้อม หรือ kick off ในพื้นที่แหล่งกำเนิดไฟป่า หมอกควัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ รับทราบ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนั้นเห็นควรชี้แจง ทำความเข้าใจแก่ผู้นำท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่

จากข้อมูลรายงานพบว่า สถิติจุดความร้อนที่คาดว่าเป็นการเผาในที่โล่ง (hotspot) ในปีนี้สะสมจำนวน 2,381จุด มากกว่าปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 2,153 จุด เนื่องจากหน่วยงาน และประชาชนยอมรับในเรื่องการลดปริมาณเชื้อเพลิงโดยการชิงเผากันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานเพียง 20 วัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 25 วัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอิทธิพลของลมพายุอันเนื่องมาจากหมอกควันไร้พรมแดน ในการดำเนินงานของจังหวัดเชียงใหม่นอกจากประกาศให้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นวาระของจังหวัดเชียงใหม่ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องแล้ว ยังจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ พิธีลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “รวมพลัง 9 จังหวัด ลดไฟป่า ลดหมอกควัน” ตลอดจนดำเนินกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” กิจกรรม “เติมรักให้อากาศ” กิจกรรม “วันรณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า” โครงการพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ และการสร้างความชุ่มชื้นให้อากาศโดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง และกองทัพอากาศโดยกองบิน 41 รวมถึงกิจกรรมธนาคารใบไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และการเพิ่มมูลค่าจากเศษกิ่งไม้ใบไม้ เศษวัสดุเหลือใช้และขยะในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถึงแม้จะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันและไฟป่าแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการและจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในปี 2558 สำหรับใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันให้ยั่งยืนต่อไป

 

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ