ประกันสังคมตั้งท่าเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม จากเดิมเดือนละ750เป็น 1,000 บาท

25 มี.ค. 2017
292
Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

ประกันสังคมตั้งท่าเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม จากเดิมเดือนละ750เป็น 1,000 บาท

                  ท่านผู้อ่านครับวันนี้มีสาระดีๆมาฝากเป็นความรู้สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่าย เงินสมทบประกันสังคม ทุกๆ เดือน ซึ่งปกตินายจ้างจะหักจากเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท แต่เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า สำนักงานประกันสังคม เขาเอาเงินที่เราจ่ายทุกเดือนไปบริหารอย่างไร และแถมด้วยข่าวการที่สำนักงานประกันสังคมจะเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนจากอัตราเดือนละ750บาทเป็น 1,000 บาท ครับ

เริ่มจาก ระบบประกันสังคม เป็นสิ่งที่ต่างประเทศมีมานานแล้วและบ้านเราก็มีมานานแล้วเหมือนกันเทาที่จำได้ก็ประมาณ 30 ปีแล้วครับ ลูกจ้างอย่างเรา จะจ่ายเงินประกันนี้ (เรียกว่าเงินสมทบ) เพียง 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น เพราะผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง  และลูกจ้าง สำหรับเงิน 750 บาท ในแต่ละเดือนของประกันสังคม จะถูกแบ่งดังนี้ครับ

1. 225 บาท สำหรับดูแลเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ถ้าไม่ใช้สิทธิ ไม่ป่วย ไม่พิการ ไม่เข้าโรงพยาบาลเลย เงินส่วนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้รับคืน

2. 75 บาท สำหรับใช้ประกันการว่างงาน ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถเอาเงินส่วนนี้มาใช้ในระหว่างตกงานหรือรอหางานใหม่ แต่ถ้าไม่ว่างงานเลย เงินส่วนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้รับคืนเช่นกัน

               3. 450 บาท(สำคัญมากนะครับ ข้อนี้) สำหรับเก็บเป็นเงินออม จะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีโดยมี เงื่อนไข การได้เงินก้อนสุดท้าย (เงินออม เมื่อครบ 55 ปี คืน) มีรายละเอียดดังนี้ คือ

              1. จ่ายประกันสังคมไม่ครบ 1 ปี ได้คืนส่วนที่จ่ายเป็นเงินก้อน เรียกว่าบำเหน็จชราภาพ เช่น จ่ายเดือนละ 750 บาทมาโดยตลอด 10 เดือน (750 บาท จะถูกหักเป็นเงินออม 450 บาท) เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้คืน 450 บาท x 10 เดือน = 4,500 บาท

               2. จ่ายครบ 1 ปี แต่ ไม่ถึง 15 ปี จะได้เป็นเงินก้อนเรียกว่าบำเหน็จเช่นกัน แต่จะมากกว่า ข้อ 3.1 คือ ได้ส่วนที่นายจ้างสมทบไว้ด้วย เช่น จ่าย 750 บาท ตลอด 7 ปี (84 เดือน) ที่จะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี คือ 450 บาท (ส่วนที่ตนเองจ่าย) + 450 บาท (ส่วนที่นายจ้างจ่าย) x 84 เดือน = 75,600 บาท

            3. จ่ายตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินรายเดือน เรียกว่า บำนาญ-ชราภาพ โดยคำนวณ 2 กรณี คือ

             – กรณีจ่ายครบ 15 ปีพอดี จะได้รับรายเดือน คือ 20% ของเฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เช่น 60 เดือนสุดท้าย เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 15,000 บาท จะได้รับ 20% คือ เดือนละ 3,000 บาท ไปจนเสียชีวิต

               – กรณีสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับโบนัสเพิ่ม 1.5% ของเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย หากครบปี เช่น จ่ายครบ 20 ปี รายเดือนที่จะได้รับ คือ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน + 1.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน x 5 ปี

                    (จ่าย 20 ปี เกินจากที่กำหนดขั้นต่ำมา 5 ปี) เช่น เฉลี่ยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เท่ากับ 15,000 บาท จะได้รายเดือน คือ (20% x 15,000 บาท) = 3,000 บาท + (1.5% x 15,000 บาท x 5 ปี) = 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาท ต่อเดือนไปจนเสียชีวิต

                   กรณีที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว แต่ยังไม่ครบ 5 ปีเลย แล้วเสียชีวิตไปก่อน ล่ะ กรณีเช่นนี้ จะได้รับบำเหน็จ 10 เท่า ของเดือนสุดท้าย ของ เงินบำนาญ ที่ได้รับเช่น รับเงินรายเดือน เดือนล่าสุด 6,375 บาท ตายปุ๊บ รับ 63,750 บาท

                   ขอแถมปิดท้ายครับ มีข่าวมาว่าเมื่อปลายปี2559  สำนักงานประกันสังคมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 โดยจะปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุน ประกันสังคม กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นต่ำสุดมี 2 แนวทาง คือ 3,600 บาท หรือ 4,500 บาท และสูงสุดเป็น 20,000 บาทต่อเดือน มาตรา 39 ซึ่งเดิมใช้ฐานค่าจ้างที่ 4,800 บาทต่อเดือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มมาเป็นที่ 7,800 บาท หรือ 6,700 บาทต่อเดือน นับว่าเป็นการพิจารณาปรับเพิ่มในรอบ 26 ปี ตั้งแต่มีการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคมมา ทั้งนี้ ข่าวแจ้งว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลักการก็มีอย่างเดียวเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของชีวิต และข่าวยังแจ้งว่า ยังอาจจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มทุกๆ 5 ปี อีกด้วย เบื้องต้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากการแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน  แต่มีบางส่วนเห็นว่าควรปรับตามสภาพเงินเดือนของแต่ละคน เพราะบางคนเงินเดือนสูงก็อยากให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพ โดยปัจจุบันผู้ที่รายได้เดือนละ 15,000 บาทหรือสูงกว่าเดือน 15,000 บาทจากเดิมจ่ายเดือนละ750บาทต้องรับภาระเพิ่มโดยจะต้องจ่ายเดือนละ1,000 บาท

           มีข่าวว่า หากมีการปรับเพดานเงินสมทบใหม่ในครั้งนี้ ส่วนของนายจ้างย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นแก่กลุ่มนายจ้าง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อเสริมสร้างให้ลูกจ้างมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้น เชื่อว่า คนส่วนมากเห็นด้วยกับการปรับครั้งนี้ ซึ่งหากลูกจ้างมีขวัญกำลังใจที่ดี ไม่มีความกังวลในเรื่องของเงินออม ก็จะทำให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

        นำข่าวมาแจ้งให้ทราบ เพื่อให้มนุษษืเงินเดือนได้ทราบความเคลื่อนไหวกันในวันนี้ครับ และหากมีอะไรคืบหน้า สำนักข่าวของเราจะนำเสนอเป็นลำดับไปครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  : สำนักงานประกันสังคม

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ