วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

“นักข่าวผี” ลวง.. หลอก.. หลอน..

Spread the love

“นักข่าวผี” ลวง.. หลอก.. หลอน..

สิงสู่อยู่ในวงการมานาน และยังหาทางขจัดออกไปไม่ได้สักที สำหรับ “นักข่าวผี” กลุ่มมิจฉาชีพที่แอบอ้างวิชาชีพ “ผู้สื่อข่าว” หาประโยชน์จาก “แหล่งข่าว” โดยใช้สารพัดกลเม็ดเด็ดพราย ทั้งรีดไถเงิน ขอของแจก ล่ารางวัล ฯลฯ ชนิดที่นับวันยิ่งจับไม่ได้-ไล่ไม่ทัน

 

ต้น ปี 2556 ที่ผ่านมา “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” จึงต้องออกมาตรการสกัด “ผู้แอบอ้าง” โดยขอความร่วมมือจากทุกๆ สำนักพิมพ์ให้นักข่าวพก “บัตรประจำตัว”

แต่ ก็ช่วยแยก “ตัวจริง-ตัวปลอม” ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะนอกจากสายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน ภาคการตลาด และภาคตลาดหลักทรัพย์ สายข่าวที่ “นักข่าวผี” มักจะตามไปลวง หลอก หลอน เป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ สายบันเทิง และสายสตรี-สังคม

สถานการณ์ เฮี้ยนๆ ที่ “ผี” มักปรากฏตัวได้แก่ งานเปิดตัวสินค้า งานสัมมนาบริษัทเอกชนดัง รวมถึงงานที่ขึ้นชื่อเรื่องแจกรางวัลไม่อั้น อย่างงาน thank press!

ราชดำเนิน ได้รับการเปิดเผยถึงพฤติกรรมของ “มิจฉาชีพ” เหล่านั้น จากนักข่าวและพีอาร์ที่คุ้นเคยกับเรื่องผีๆ เป็นอย่างดี

“นักข่าวสายการเงิน” ของ นสพ.ฉบับหนึ่ง เปิดเผยว่า ผีบางตนก็เป็น “ผีขาประจำ” เรียกว่าไปงานนี้จะต้องเจอผีตนนี้แน่นอน โดยอดีตชาติเคยเป็นนักข่าวตัวจริง จึงรู้ช่องทางในการหาประโยชน์จากงานต่างๆ เป็นอย่างดี ที่สำคัญ มักใช้ความเก่า-เก๋า และคุ้นเคยกับพีอาร์ ในการเข้าไปตามงานต่างๆ

เคยมีบ้างที่พีอาร์เอะใจ ถามว่าทำงานอยู่ที่ไหน ก็มักจะไม่ได้รับคำตอบ เมื่อรุกหนักขอนามบัตร กลับถูกผีต่อว่าอย่างรุนแรง !

เธอ ยังเล่าถึงเหตุการณ์เฮี้ยนๆ ครั้งหนึ่ง ที่หลังจาก “นักข่าวจริง” กลุ่มหนึ่ง ไปสัมภาษณ์ “แหล่งข่าว” ในงานแถลงข่าวหนึ่งเสร็จ พอกลับมาทีหน้างานปรากฏว่า ของที่ระลึกซึ่งเป็นกระเป๋าใบใหญ่ มีราคาพอสมควร ถูกเหมากลับบ้านไปหมดแล้ว

พอสืบดูว่าใครได้รับของไป ผลที่ออกมาชวนขนหัวลุก เพราะเป็น “นักข่าวผี” ล้วนๆ !!

“ยิ่ง ไปกว่านั้น คือตอนจะเดินไปขึ้นรถกลับ ก็เห็นผีตนหนึ่งคล้องป้าย press (สื่อ) กำลังกวาดอาหารลงกระเป๋าที่ได้รับแจกอย่างไม่อายสายตาคนรอบข้าง ลองคิดดูว่า หากคนภายนอกที่แยกไม่ออกระหว่างนักข่าวจริงกับนักข่าวผี เห็นพฤติกรรมเช่นนี้เขาจะมองอาชีพนักข่าวอย่างไร” คนข่าวรายนี้กล่าว

อีกด้าน “พีอาร์สาว” ที่ ทำงานให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ก็เล่าประสบการณ์เจอผี-ไล่ผี-ล่าท้าผี ให้ฟังว่า วิธีแยกผีออกจากตัวจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย 1.ให้ดูตอนลงทะเบียน ว่าเป็นคนหน้าเดิม แต่เปลี่ยนสังกัดไปเรื่อยๆ หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ฟันธงไว้ก่อนว่าเป็นผี 2.ถ้ามีการอ้างว่าทำงานอยู่ที่ นสพ.หรือนิตยสารชื่อดังที่เรารู้จักตัวจริงอยู่ ก็จะถามอย่างสุภาพว่า แล้วคนเดิม (ระบุชื่อ) ไม่มาหรือคะ พร้อมกับขอนามบัตรและติดตามพฤติกรรมอยู่ห่างๆ และ 3.ถ้าจะให้แน่ใจที่สุดคือโทรศัพท์ไปเช็คกับนักข่าวที่อยู่ในสังกัดที่ต้อง สงสัยว่าจะเป็นผีมาลงทะเบียน

“หากพบว่าเป็นผีจริง ก็จะรีบเชิญออกจากงานอย่างสุภาพ เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศ” เธอว่า

พี อาร์สาวรายนี้ยังเล่าว่า หากรู้ว่างานนี้จะมี “ผี” มารังควาน อย่างงาน thank press วิธีแก้ก็อาจจะให้ลงทะเบียนก่อนวันหน้า หรือลงทะเบียนหน้างาน ถ้ามาจากองค์กรสื่อที่ชื่อไม่คุ้น หรือมั่นใจแน่ๆ ว่าเป็น “ผี” ก็จะเข้าไปชี้แจงว่า งานนี้เป็นงานปิด อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น

“จริงๆ พีอาร์อยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อช่วยกันดูแลและหาวิธีแสดงตนของนักข่าว อาทิ รณรงค์ให้สวมบัตรนักข่าว หรือพกนามบัตร อย่างน้อยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้” เธอเสนอแนะ

ซึ่งนอกจากวิธีป้องกัน “ผี” ด้วยการกรองที่หน้างาน อีกวิธีป้องกัน ที่ดีที่สุด คือต้องไม่ให้ “ผี” เข้าถึงตัว “แหล่งข่าว” !!

เพราะ เท่าที่ฟังนักข่าวรุ่นพี่หลายคน “ผี” จำนวนไม่น้อยมักจะหาผลประโยชน์ ด้วยการ “ไถเงิน” แหล่งข่าว โดยวิธีการที่ใช้มักไม่ต่างกัน เริ่มจากขอนามบัตร-เบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะโทรศัพท์ไปรีดไถ โดยอ้างว่าพ่อหรือแม่ป่วย หรือมีการถ่ายรูปคู่แล้วส่งมาเก็บเงินที่บริษัท อีกวิธีคือตีสนิทกับแหล่งข่าวเพื่อ “ขายโฆษณา” ใน นสพ.หรือนิตยสาร ที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่

ที่ น่าตกใจก็คือ แหล่งข่าวส่วนมากยินดีจ่ายเงินตามที่ “ผี” ร้องขอ ด้วยหลายๆ เหตุผล อาทิ ให้เพราะเชื่อว่าเป็นนักข่าวจริง ให้ด้วยความเมตตา หรือให้เพราะตัดรำคาญ

อีกวิธีพิสดารที่แหล่งข่าวพบเจอ คือถูก “ผีหลอก” เอาดื้อๆ โดย “รังษี บูรณประภาพงษ์” ผอ.ฝ่ายการสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย เล่า ว่า เคยมีผีส่งแมกกาซีนเล่มหนึ่งมาให้เพื่อเก็บเงินค่าเขียนคอลัมน์ แต่พีอาร์ขององค์กรอ่านแมกกาซีนเล่มนั้นเป็นประจำ จึงรู้ว่าคอลัมน์นั้นมีการตัดต่อ โดยการสอดไส้คอลัมน์ปลอมๆ ลงในแมกกาซีนฉบับจริง อีกมุกก็คือเขาจะถ่ายเอกสารข่าวที่เกี่ยวกับบริษัท โดยตัดแปะชื่อตัวเองทับชื่อคนเขียนเดิมอย่างแนบเนียน จากนั้นก็ส่งมาเก็บเงินกับทีมงาน

“บาง ครั้งก็มีการส่งอีเมล์หาผู้บริหารเพื่อขอรับค่ารักษาพยายามแม่ที่เจ็บป่วย ครั้งละ 3-5 พันบาท ส่วนที่เดินมาประกบขอถ่ายรูปผู้บริหาร แล้วส่งรูปมาเก็บเงินตอนหลัง เราก็เคยเจอ วิธีแก้ก็คือให้พีอาร์เดินประกบ เมื่อใครมาขอถ่ายรูป พีอาร์ของเราก็จะแจ้งว่ามีช่างภาพของบริษัทอยู่แล้ว” บิ๊กเคแบงก์กล่าว

และ ด้วยความที่ นับวัน “ผี” จะแพร่กระจายมากขึ้นอย่างแทบไม่มีทางหยุดยั้ง ทำให้บางครั้ง เกิดเหตุการณ์ประหลาดๆ อย่าง “ผีจับผี” ขึ้นมา ??

โดย ในงาน thank press ของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง มี “ผีมือใหม่” แจ้งต่อพีอาร์ว่า มาจาก นสพ.ภาษาอังกฤษชื่อดัง ขอลงชื่อเข้าไปในงาน แต่เวลาต่อมา นักข่าวจริงจาก นสพ.ฉบับนั้นมาลงทะเบียน ทำให้เกิดการท้วงติงว่าคนที่เข้าไปก่อนหน้าเป็น “ผี”

แต่ ก่อนที่นักข่าวจริง-พีอาร์จะได้ลงมือทำอะไร ปรากฏว่า “ผีขาประจำ” ได้แสดงความเก๋า ด้วยการแจ้งตำรวจให้กับ “ผีมือใหม่” เรียกเสียงฮือฮาจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างมาก !!

สำหรับ วิธีแก้ปัญหาเรื่องผีๆ เบื้องต้น นอกจาก สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจะออกแถลงการณ์ให้ “นักข่าวจริง” ที่มีสังกัดช่วยกันพกบัตรประจำตัว เวลาที่จะไปทำข่าวตามงานแถลงข่าว งานเลี้ยง และกิจกรรมอื่นๆ ของภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อคัดกรองออกจาก “นักข่าวผี” ในเบื้องต้น

“(เพราะ ปัญหาดังกล่าว)ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงถึงตัวสื่อมวลชน และองค์กรสื่อมวลชนในภาพรวม และในบางกรณียังทำให้แหล่งข่าว เสียทรัพย์ หรือเสียผลประโยชน์อื่นๆ ด้วย” แถลงการณ์ระบุ

“อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์” นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ยังกล่าวว่า สมาคมรับทราบถึงปัญหานี้โดยตลอด และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมานอกจากออกแถลงการณ์กระตุ้นเตือน ยังมีการรณรงค์ “ยืดอกพกบัตร” ให้นักข่าวสายงานต่างๆ แสดงบัตรประจำตัวทุกครั้งเมื่อไปร่วมงาน และหากพีอาร์ของตรวจบัตรก็ให้นำมาแสดงอย่างเปิดเผย อย่าต่อต้านหรือแสดงความไม่พอใจ

ส่วน ที่มีข่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่มีนักข่าวผีเกิดขึ้นเพราะพีอาร์กับเอเจนซีต้องการทำยอดนัก ข่าวที่มาร่วมงานให้เท่ากับรับปากกับผู้ว่าจ้างไว้ ทำให้ต้องมีการจ้าง-ปล่อย “ผี” ให้มาร่วมงาน

“อมรรัตน์” กล่าวว่า สมาคมก็อยากให้บริษัทต่างๆ ที่รับจัดงานแจ้งความสามารถในการเชิญนักข่าวที่แท้จริงให้กับผู้ว่าจ้าง หากไม่เป็นไปตามเป้า ก็ต้องชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง เพราะการที่จ้างคนที่ไม่ใช่สื่อจริงๆ ให้มาร่วมงาน ไม่เพียงจะเกิดผลเสียต่อวงการสื่อ ยังส่งผลต่อการทำงานของพีอาร์และเอเจนซี่

เพราะอย่างไรเสีย “ผี” ก็ไม่มีพื้นที่ให้ “เขียน” อะไร อยู่แล้ว !!

 

สารพัดวิธีกันผู้ทรงเกียรติถูก “รีดไถ”

และตากล้องปริศนา ผู้จับจ้องดาราสาว ?

ปลาย ปี 2554 สถานที่ราชการสำคัญแห่งหนึ่งได้แก่รัฐสภา ก็มีความพยายามในการจัดการกับนักข่าวผีที่มาป้วนเปี้ยนรีดไถเงินจาก ส.ส.และ ส.ว. โดย “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา ได้ออกคำสั่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งการแลกบัตรที่ต้องให้มีนักข่าวซึ่งมีบัตรประจำรัฐสภามารับรอง

การ กันพื้นที่หวงห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องผ่าน โดยเฉพาะชั้น 2 ของอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นทางเข้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเป็นสถานที่รับรองบุคคลสำคัญ ทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับให้ผู้ติดตาม ส.ส.และ ส.ว.ดำเนินการทำบัตรเข้า-ออกอาคารรัฐสภาใหม่

ทั้ง นี้ จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่พกบัตรผ่านเข้า-ออกสภา ที่ทำก่อนปี 2554 เข้ามาภายในรัฐสภาเด็ดขาด ยกเว้นจะมีการนำบัตรที่ออกโดยทางราชการไปแลกบัตรผ่านที่บริเวณกองรักษาการณ์ เท่านั้น

สาเหตุ ที่ต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากเวลานั้น มีบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าว 3-4 คน แขวนบัตรสื่อมวลชนที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ มารีดไถเงินกับ ส.ส.และ ส.ว.ภายในบริเวณสภาอย่างเป็นขบวนการ โดยจะนำภาพของ ส.ส. ส.ว.และผู้ทางการเมืองสำคัญที่ถ่ายตามวาระต่างๆ มาให้ พร้อมกับเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงิน 500-1,000 บาทต่อครั้งสร้างความไม่พอใจกับ ส.ส. แต่เพื่อตัดความรำคาญ บางครั้งก็ต้องยอมให้เงินไป

ขณะ ที่สื่อสายบันเทิงเคยทำเป็นสกู๊ปแฉ “นักข่าวผี” อย่างเป็นระบบ หลังมีผู้ชายอ้วน-ดำ ที่มักอ้างว่าเป็นช่างภาพของ Metrolife ซึ่งเป็น supplement ของ นสพ.ผู้จัดการ (ในเวลานั้น) เข้าไปกินฟรีและขอของชำร่วยตามงานเลี้ยงต่างๆ พร้อมเข้าไปถ่ายรูปดาราสาวอย่างใกล้ชิดโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่านำไปทำ อะไร? (มีการระบุชื่อดาราสาสวสวย 4 คนที่มักตกเป็นเป้าหมาย)

กระทั่ง นสพ.ผู้จัดการต้องเข้ามาตรวจสอบ ก่อนพบว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่ช่างภาพของ นสพ.ผู้จัดการ พร้อมรวบรวมหลักฐานเตรียมแจ้งความดำเนินคดี

ระบาดไปทุกหย่อมหญ้าจริงๆ !

 

นักข่าวผี ไม่ได้มีแค่ “หัวดำ”

และ 4 วิธีกำราบ สไตล์บางกอกโพสต์

ไม่ใช่แค่ นสพ.ภาษาไทยเท่านั้น ที่เจอปัญหานักข่าวผี กระทั่ง นสพ.ภาษาอังกฤษ ก็ยังพบปัญหาลักษณะเดียวกัน แถมยังพบบ่อย พบถี่ด้วย “จิรทัศน์ นิวัฒน์ภูมินทร์” บรรณาธิการบริหาร นสพ.บางกอกโพสต์ จะมาเล่าประสบการณ์เจอผีหลอก และวิธีปราบผีให้ฟัง…

แล้วจะรู้ว่า นักข่าวผี ไม่ได้มีแต่ “หัวดำ” ยังมีพวก “หัวทองด้วย !

“บางกอกโพสต์เจอปัญหาเรื่องนักข่าวผีบ่อย แค่ 2-3 เดือนของปีนี้ ก็ 4-5 กรณีแล้ว

“ลักษณะ นักข่าวผีที่เจอ 1.ช่วงเทศกาลมีงานเลี้ยงนักข่าวจะมากินฟรี เที่ยวฟรี 2.หวังได้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปหาประโยชน์ด้วยวิธีอื่น 3.ติดต่อกับบริษัทเล็กหรือบริษัทใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ อ้างว่าจะช่วยหาช่องทางการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ให้

“เหตุ ที่มีนักข่าวผีมาก ผมมองว่า เพราะมีเศรษฐกิจบูม มีบริษัทเอกชนใหม่ๆ เกิดเยอะ งานเปิดตัวก็อยากให้มีนักข่าวไป แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นตัวจริง ใครเป็นผี

“วิธี แก้ปัญหาคือเราจะบอกว่า จริยธรรมของสื่อคือการทำข่าวนำเสนอข้อเท็จจริงกับประชาชน จะไม่มีการเรียกร้องผลประโยชน์ ดังนั้นถ้ามีคนอ้างตัวว่าเป็นนักข่าวแต่มีพฤติกรรมเช่นนั้นก็ให้สงสัยไว้ ก่อนว่าอาจเป็นนักข่าวผี

“ที่ มีการอ้างชื่อบางกอกโพสต์ เพราะ นสพ.อังกฤษในไทยที่มีชื่อเสียง มี 2 ฉบับ 1.บางกอกโพสต์ 2.เดอะเนชั่น แล้วเราอยู่มานาน ที่พบมีชาวต่างชาติอ้างตัวเป็นนักข่าวบางกอกโพสต์ด้วย แต่จริงๆ เป็นนักข่าวผี ใน นสพ.บางกอกโพสต์แม้จะเป็น นสพ.อังกฤษ แต่พนักงานส่วนใหญ่ กว่า 90% ในกอง บก.ทั้ง 170 คนเป็นคนไทย และนักข่าว 100% เป็นคนไทย

“คำ แนะนำสำหรับแหล่งข่าวให้ไม่ถูกหรอก 1.ถ้าสงสัยนักข่าวจริงไหม ให้ติดต่อไปยังต้นสังกัด อาทิ บางกอกโพสต์ เช็คชื่อว่าคนๆ นั้นเป็นพนักงานหรือเปล่า 2.หากมีคนไปอ้างตัวเป็นนักข่าว แต่บอกว่าสามารถหาพื้นที่ลงโฆษณาให้ได้ อย่าเพิ่งไปทำสัญญา เพราะการทำข่าวไม่ควรมีอะไรแลกเปลี่ยน 3.ได้ประสานกับสมาคมนักข่าว สมาคมนักข่าวเศรษฐกิจ ให้ช่วยยกปัญหานี้เป็นปัญหาวิชาชีพ และ 4.ประสานพีอาร์แจ้งชื่อนักข่าวสายนั้นๆ แต่ถ้าไม่แน่ใจให้โทร.ไปถามที่ต้นสังกัดได้ทันที

“ถ้าเช็คแล้วเป็นนักข่าวผี เจออ้างชื่อบางกอกโพสต์ให้เชิญออก หากไม่ยอมให้แจ้งตำรวจ

“ผล เสียของนักข่าวผี ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของบางกอกโพสต์ แต่เป็นปัญหาของวงการสื่อ เพราะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตัวนักข่าว องค์กรสื่อ และการทำงานในนำเสนอข่าว”

 

ยันต์กันผีที่เรียกว่า “นามบัตร”

ว่า กันว่า เหตุที่นักข่าวผี รู้หมายงาน ว่าที่ไหนจะมี thank press ที่ไหนจะแจกของ ชำราย มีอาหารให้กินฟรี หรือมีแหล่งข่าวระดับบิ๊ก ปรากฏตัว เพราะนักข่าวผีบางส่วนเคยเป็น “นักข่าวจริง” มาก่อน แต่ออกจากงานไปแล้ว

“สุธิษา สิงห์ทอง” นักข่าวสายเศรษฐกิจน้องใหม่ นสพ.มติชน เล่าว่า เท่าที่ฟังนักข่าวรุ่นพี่และพี่พีอาร์ที่รู้จักเล่าให้ฟัง วิธีเช็คง่ายๆ ว่าใครเป็นนักข่าวผีหรือไม่ คือการขอ “นามบัตร”

“ส่วนใหญ่นักข่าวผี เวลาถูกพีอาร์หรือออร์กาไนเซอร์ขอนามบัตร จะแสดงท่าทีฮึดฮัด ไม่พอใจ บางคนก็ทำทีโวยวาย”

สุ ธิษา ยังกล่าวว่าผู้จัดงานบางคนที่จำหน้านักข่าวแม่น ถ้าเจอคนแปลกปลอมเข้ามา ก็จะเข้าไปถามว่า แล้วนักข่าวประจำที่ชื่อนี้ๆ วันนี้ไม่มาหรือ จากนั้นก็แนะนำตัว และขอนามบัตร ถ้าไม่มีให้บางคนจะถูกเชิญออกจากงาน

“พี่ๆ นักข่าวจะรู้ว่าคนไหนเป็นผี เพราะบางคนก็เป็นขาประจำ เวลาที่เจอ ส่วนใหญ่ก็ทำได้แค่แซวๆ เห้ย ผีมาอีกแล้วเว้ย เพราะเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว หรือบางครั้งก็สะกิด ชี้เป้าให้กับพีอาร์ ออร์กาไนเซอร์เข้าไปจัดการ”

 

“ผี” 7 จำพวก

จากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ราชดำเนิน ขอจำแนก “นักข่าวผี” ออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างคร่าวๆ เพื่อให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีวิธีการหาผลประโยชน์อย่างไร

หนึ่ง “ผีกินฟรี” พบเจอบ่อยที่สุดตามงานเลี้ยงต่างๆ ลักษณะที่พบ มักใช้โอกาสสำคัญ เข้าไปตามงานเลี้ยงหรูหรา ไฮโซ ลิ้มรสอาหารที่แทบไม่มีโอกาสสัมผัสในชีวิตประจำวัน หลายครั้งมีการโกยเข้าไปรับประทานต่อที่บ้าน ชนิดไม่อายสายตาใคร

สอง “ผีมือยาว” สาวได้…สาวเอา พบตามงานสัมมนา งานเปิดตัวสินค้า ที่มักมีการแจกของชำร่วย ของที่ระลึก ทั้งสินค้าตัวอย่าง เสื้อ หมวก กระเป๋า แฟลชไดรฟ์ ฯลฯ จะขอของจากพีอาร์มากกว่าโควตา 1 ชิ้น หากเป็นงานที่ให้หยิบชองที่ระลึกกันเอาเอง มีโอกาสสูงที่ของแจกทั้งหมดจะหายในพริบตา

สาม “ผีถ่ายรูป” ถ่ายภาพแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลสำคัญ จากนั้นนำไปอัดแล้วนำมาขายกับแหล่งข่าว สนนราคาในการเรียกรองมักต่างกันไปตามฐานะของแหล่งข่าว แต่ส่วนใหญ่มักจะขอรูปละ 500-1,000 บาท ซึ่งแหล่งข่าวส่วนใหญ่มักจะจ่ายให้เพื่อตัดความรำคาญ

สี่ “ผีอัพเกรด” สถานะคือนักข่าวจริง แต่อยู่สื่อหัวเล็ก ทว่าเวลาไปงานต่างๆ ชอบอ้างว่ามาจากสื่อหัวใหญ่ โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับการต้อนรับขับสู้ที่ดีกว่า หรือให้ได้เข้าไปสัมผัสงานระดับแกรนด์ ซึ่งต้นสังกัดตัวเอง ไม่ได้รับเชิญ

ห้า “ผีสวมรอย” เป็นคนละกรณีกับผีอัพเกรด แต่ใช้วิธีสวมรอย ตัดแปะชื่อตัวเองว่าเป็นคนเขียนคอลัมน์ใน นสพ.หัวใหญ่ หรือในแมกกาซีนดัง จากนั้นก็ส่งผลงานไปเบิกเงินกับแหล่งข่าวที่เขียนถึง

หก “ผีเอเจนซี่” มักอ้างกับแหล่งข่าว ที่เป็นหน้าใหม่ในวงการ โดยเฉพาะวงการธุรกิจ ว่ามีเส้นสายสามารถช่วยหาช่องทางในการประชาสัมพันธ์ แต่ต้องขอค่าดำเนินการ ส่วนใหญ่มักเป็นหลักพัน ถึงขั้นหลักหมื่น

และเจ็ด “ผีแฟนคลับ” อ้างตัวเป็นนักข่าว เพื่อฝ่าด้านป้องกันเข้าไปสัมผัสแหล่งข่าวที่ตัวเองชื่นชมอย่างใกล้ชิด มีตั้งแต่สายบันเทิงยังสายการเมือง.

 

 

ขอบคุณที่มา http://www.isranews.org/isranews-article/item/23559-ghost.html

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ