วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ธนาคารแห่งประเทศไทยพัฒนาระบบ ICAS

Spread the love

ธนาคารแห่งประเทศไทยพัฒนาระบบ ICAS เพื่อใช้ทดแทนระบบงานเดิม

ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันพัฒนาระบบการหักบัญชีด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค หรือ ระบบ ICAS เพื่อใช้ทดแทนระบบงานเดิมที่ใช้มาเป็นเวลานาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายการขนส่งตัวเช็คของทั้งระบบ สามารถทราบผลการเรียกเก็บภายใน 1 วันทำการ

 

นายอดิศร  กำเนิดศิริ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการหักบัญชีด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค ( Imaged Cheque Clearing and Archive System :  ICAS) เพื่อใช้ทดแทนระบบงานเดิมที่ใช้มาเป็นเวลานาน เป็นการบูรณาการงาน 3 ด้าน คือ ธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ กฎหมาย โดยระบบ ICAS ใช้ภาพเช็คที่ส่งผ่านระบบ On-Line ในการพิจารณาตัดจ่ายเงินแทนการส่งเช็คต้นฉบับให้กับธนาคารเจ้าของเช็ค ทำให้มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว เป็นการลดค่าใช้จ่ายการขนส่งตัวเช็คของทั้งระบบ และสามารถทราบผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คภายใน 1 วันทำการทั่วประเทศจากระบบเดิมที่ต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บประมาณ 3-5 วันทำการ ส่งผลให้การหมุนเวียนเงินในธุรกิจและระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยในเขตภาคเหนือได้เริ่มใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 และจะทยอยการใช้งานระบบ ICAS ไปยังจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญและจังหวัดอื่น ๆ โดยจะครอบคลุมทุกจังหวัดภายในสิ้นปี 2556

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มใช้งานระบบการหัวบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System : ICAS) ให้บริการลูกค้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 และขยายการให้บริการในจังหวัดสุพรรณบุรี ระยอง ขอนแก่น สระบุรีและนครราชสีมา โดยสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่น และธนาคารสมาชิกบางแห่งได้ใช้ศักยภาพของระบบ ICAS ในการขยายเวลารับฝากเช็คจากลูกค้าแล้ว  ทั้งนี้การใช้งานในระบบดังกล่าว มีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นให้การเรียกเก็บเงินตามเช็คมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และสามารถขยายเวลาการนำฝากเช็คเพิ่มขึ้นตามที่ธนาคารผู้รับฝากจะกำหนด โดยธนาคารผู้จ่ายเงินต้องตรวจสอบข้อความ ตัวเลข และลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายบนภาพเช็ค หากมีการใช้ตราประทับ ตรานูน ตราสี บนตัวเช็คจะมีผลต่อการตรวจสอบภาพเช็ค ที่ไม่สามารถตรวจสอบความนูนต่ำของพื้นผิวและความถูกต้องของสีในตราประทับจากภาพเช็คได้ ทั้งนี้หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 1213 หรือที่ ส่วนบริหารกิจการสำนักงานภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โทรศัพท์ 0-5393-1077

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ