วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ถึงคราเขมรเล่นบท จอมทรนง

Spread the love

 ถึงคราเขมรเล่นบท  จอมทรนง

ตอกหน้าอเมริกา-ตบหน้านักการเมืองไทย

ชาติไทย

            ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากคงได้พบข่าวนักการเมืองไทยจำนวนหนึ่ง ที่ออกอาการเคารพ บูชา ยกย่อง และยอมตนเป็นทาสประเทศมหาอำนาจตะวันตก อย่าง อเมริกา มาแล้ว ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร ขอไม่ขยายความ

          แต่เมื่อพบรายงานข่าวชิ้นนี้ ผมจึงอดใจไม่ได้ ขอร่วมเผยแพร่ให้คนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดินได้ดูเป็นตัวอย่างว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรา ประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชา หรือเขมร เขาทรนงอย่างไร

             ตามผมมา

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานโดยอ้างรายงานของนาย ยุท คุน แห่งสำนักข่าวกัมพูชา ว่า กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ยื่นบันทึกทางการทูต ต่อสถานทูตสหรัฐในกรุงพนมเปญในวันพุธ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการที่เอกอัครราชทูตสหรัฐ นายวิลเลียม ทอดด์ (William Todd) ได้วิจารณ์ร่างกฎหมายว่า ด้วยองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาล โดยนายฮอร์นัมฮอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกับความร่วมมือระหว่างประเทศระบุว่า นายทอดด์ได้แทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา และ ไม่เคารพอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยการทูต ซึ่งเอกอัครราชทูตผู้แทนที่มีอำนาจเต็ม ที่ไปประจำในประเทศอื่นๆ จะต้องเคารพกฎหมายเจ้าของประเทศนั้นๆ

        ซึ่งบันทึกนั้น นายฮอร์นัมฮอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ใช้ถ้อยคำรุนแรงหลายคำ เช่น ไร้มารยาท, ยะโสโอหัง เป็นต้น

      

เรื่องเริ่มมาจากหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ได้ตีพิมพ์ความเห็นของเอกอัครราชทูตสหรัฐ ในฉบับประจำวันที่ 19 พ.ค. โดยพาดหัวข่าวว่า All Eyes on NGO Law: Todd (สายตาทุกคู่กำลังจ้องดูกฎหมายเอ็นจีโอ) ซึ่งเป็นการเสนอข่าวจากการสัมภาษณ์ความเห็น

เนื้อข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสมาคมและองค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาล (Draft Law on Association and the Non-Governmental Organization)” และอยู่ในขั้นตอนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา การดำเนินการเรื่องนี้ทำให้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุนเซนถูกมองว่า กำลังหาทางสกัดบทบาทของเอ็นจีโอ ที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญของกัมพูชา ที่จัดร่างขึ้นมาเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ

สาเหตุที่จัดทำร่าง พรบ.ฉบับนี้  มีขึ้น หลังจากรัฐบาลกัมพูชาเกิดความขัดแย้งกับ เอ็นจีโอหลายกลุ่มและหลายครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเคยกล่าวว่า เอ็นจีโอแสดงอำนาจบาดใหญ่มากจนเกินไป ไม่เคารพกฎหมายของกัมพูชา และ ในหลายกรณีที่ผ่านมากัมพูชาเองจะไม่ต่อวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอที่มีปัญหากับรัฐบาล เมื่อวีซ่าของพวกเขาหมดอายุลง ซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในประเทศนี้ได้อีกต่อไป

และต่อมาร่าง พรบ.ฉบับนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเอ็นจีโออย่างหนัก รวมทั้งจากองค์การสหประชาชาติด้วย ทำให้นายฮอร์นัมฮอง เรียกตัวแทนของ 4 หน่วยงานยูเอ็นที่ประจำกัมพูชา เข้าพบในวันพฤหัสบดีที่21 พฤษภาคม..

                ก็รู้ๆกันอยู่ พวกเอ็นจีโอตัวเบิ้มๆคือฝรั่งชาติตะวันตก ผู้ละเมอเพ้อพกกับประชาธิปไตย  และเอกอัครราชทูตสหรัฐก็ออกโรงให้สัมภาษณ์พนมเปญโพสต์ เกี่ยวกับร่าง พรบ.เอ็นจีโอ ฉบับในพุธ โดยระบุว่า ..

“เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากความสนใจนี้ กัมพูชาจะต้องแสดงภาพลักษณ์ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดึงดูดเทคโนโลยี และ ทรัพยากรมนุษย์”

“ภาพลักษณ์ของกัมพูชาได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายเอ็นจีโอ” และ “ผมขอเข้าร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องเพื่อให้มีการดำเนินการ” ในการผลักดันให้รัฐบาลกัมพูชา เผยแพร่ร่างกฎหมายว่าด้วยเอ็นจีโอ และ ให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจัง”

“ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชากำลังจะดำเนินการในขั้นต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องตระหนักว่าโลกกำลังเฝ้าจับตามองอยู่”

ตามรายงานของสำนักข่าวกัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ตอบโต้เอกอัครราชทูตสหรัฐ ผ่านบันทึกทางการทูตทันทีเลยครับ.

            ถ้อยคำที่ระบุโดยเอกอัครราชทูตของต่างประเทศประจำกัมพูชานั้น(หมายถึงนายวิลเลียม ทอดด์) ช่างไร้มารยาทอย่างยิ่ง (extremely insolent) แม้ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งก็ตาม

              ฮามาก

               กัมพูชาเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ร่างกฎหมายอะไรก็ตาม หรือ การเสนอกฎหมายอะไร ก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทุกประเทศ จะใหญ่หรือเล็ก จะต้องเคารพกันและกัน อย่างมีลักษณะเท่าเทียม และ เคารพอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตปี ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) และ การปฏิบัติทางสากลเกี่ยวกับการเคารพกัน ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

            มันมาก ขอบอก

บันทึกประท้วงของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้หยิบยกมาตรา 41.1 ของอนุสัญญากรุงเวียนนา ปี ค.ศ. 1961 ที่กำหนดให้ นักการทูตทุกคนใช้สิทธิพิเศษ รวมทั้งสิทธิคุ้มกัน โดยเคารพกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศนั้นๆ และ เอกอัครราชทูตมีหน้าที่ ที่จะต้อง “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นๆ” ดังนั้นเอกอัครราชทูตสหรัฐควรจะเคารพในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งสหรัฐได้ร่วมลงนามให้สัตยาบรรณเมื่อปี ค.ศ.1972

คราวนี้สื่อมวลชนต่างๆก็ออกโรงเสนอข่าวกันตูมตาม รายงานข่าวนั้นมีเนื้อหาทำนองว่า ในการประชุม พบปะกับผู้แทน 4 หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติในกัมพูชาด้วยตนเอง วันพฤหัสบดีนี้ นายฮอร์นัมฮองก็ได้แจ้งให้ทุกคนต้องเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งยืนยันว่า ร่าง พรบ.ว่าด้วยเอ็นจีโอของกัมพูชา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เด็ก ผู้หญิง และ ประชากรของกัมพูชา และ ไม่ได้ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา เพื่อขัดขวางกิจกรรมของเอ็นจีโอ แต่กัมพูชาต้องการเห็นเอ็นจีโอดำเนินงานอย่างโปร่งใสในประเทศนี้

นี่เป็นทัศนะของสำนักข่าวซินหวาของจีนที่รายงานในทำนองชื่นชมเขมร

แม้จะหมั่นไส้เขมรหรือกัมพูชา เกลียดนายฮุนเซ็น แต่ท่าที่ของเขมรที่ ทรนง ตรงไปตรงมา ไม่เหมือนนักการเมืองไทยประเภทควายๆที่ลดเกียรติประเทศไทยไปตามก้นมะริกา บูชาต่างประเทศเหมือนเป็นพ่อบังเกิดเกล้า ผมจึงต้องยอมรับนับถือด้วยความสะใจเป็นที่ยิ่ง

 

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์        

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงข่าวและรายงาน

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ