วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ตามติดข่าวสยองส่งต่อในโลกออนไลน์

20 เม.ย. 2015
342
Spread the love

ตามติดข่าวสยองส่งต่อในโลกออนไลน์

น้ำแข็งผสมฟอร์มาลิน และน้ำใส่คลอรีน

น้ำแข็ง

 

               กรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็ง เพื่อไม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว และการใส่คลอรีนลงในน้ำดื่มทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มนั้น

             สำนักข่าวของเรา ก็ต้องทำหน้าที่ ทำความจริงให้ปรากฏ อีกแล้ว ครับท่าน

      เรื่องนี้มีที่มา ที่ไป อย่างไร ฟัง คุณหมอ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาท่านว่านะครับ

ท่านบอกว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิคเพื่อใม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว และการใส่คลอรีนในน้ำบริโภคทุกวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งนั้น

ขอบอกว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์น้ำแข็งและน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทอย่างเข้มงวด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ ในเรื่องความปลอดภัย

สำหรับกรณีข่าวผสมสารฟอร์มาลินในน้ำแข็ง อย. ได้ประสานความร่วมมือกับอาจารย์จากสาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการทดลองถึงลักษณะและการละลายของน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินเปรียบเทียบกับน้ำแข็งธรรมดา

ผลการทดลองปรากฏว่า น้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินมีลักษณะขุ่นทั้งก้อนและ มีกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน ในขณะที่น้ำแข็งธรรมดาจะมีส่วนที่ขุ่นอยู่ตรงกลางก้อน ส่วนเรื่องของการละลาย ช่วงแรกน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินจะละลายได้ช้ากว่า แต่เมื่อสิ้นสุด การทดลองพบว่า น้ำแข็งธรรมดาละลาย ได้ช้ากว่า

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ฟอร์มาลินไม่มีส่วนช่วยในการทำให้น้ำแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็ง และ หากในกระบวนการทำน้ำแข็งมีการใส่สารฟอร์มาลิน ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากลักษณะของก้อนน้ำแข็งและกลิ่นฉุน ทั้งนี้ น้ำแข็งที่จำหน่ายทั่วไปนั้นจะต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำแข็ง โดยไม่อนุญาตให้มีการใส่สารฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 151) พ.ศ. 2536 เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ฟอร์มาลิน ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6(5) พบวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

                  แต่ในกรณีของกลิ่นฉุน ที่ติดมากับน้ำแข็งนั้น อาจจะเกิดจากการรั่วของแอมโมเนีย ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในกระบวนการผลิตน้ำแข็ง หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นฉุน ดังกล่าว สามารถแจ้งมายัง อย. เพื่อทำการตรวจสอบต่อไปได้

ส่วนการใส่คลอรีนในน้ำ เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำบริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากน้ำผิวดิน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มาจากน้ำดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการ คลอรีนเป็นสารฆ่าเชื้อที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเนื่องจากเป็นสารที่สามารถควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ได้ง่าย และระเหยง่ายกว่าสารฆ่าเชื้อชนิดอื่น ซึ่งปริมาณคลอรีนคงเหลือในน้ำดิบที่ผ่านกระบวนการแล้ว ต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 0.2 แต่ไม่เกิน 0.5มิลลิกรัมต่อลิตร หลังจากนั้นน้ำดิบ จะผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำ ซึ่งคลอรีนจะถูกกำจัดในกระบวนการดังกล่าว และเมื่อนำมาผลิต เป็นน้ำบริโภค อย. ยังได้กำหนดให้น้ำบริโภคนั้น ต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทอีกด้วย

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข่าวที่ส่งต่อทางสื่อออนไลน์เพราะอาจไม่ใช่เรื่องจริง      การเลือกซื้อน้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เช่น เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และข้อความ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยอักษรสีน้ำเงิน ส่วนน้ำแข็งหลอดตักแบ่งขายตามร้านค้า ร้านอาหารทั่วไปผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งซึ่งต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น โดยก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละออง

ปนเปื้อน

ส่วนน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ควรเลือกซื้อโดยสังเกตจากภาชนะบรรจุ ต้องสะอาดไม่มีตะไคร่น้ำ ปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ

                ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Applicationหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

           ทราบแล้วเปลี่ยน ครับผม

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ