วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ตลาดน้ำอัดลมทั่วโลกอย่ามองข้าม 1ตำบล จ.บุรีรัมย์

07 เม.ย. 2015
586
Spread the love

ตลาดน้ำอัดลมทั่วโลกอย่ามองข้าม

1ตำบล จ.บุรีรัมย์  เริ่มรณรงค์ดื่มน้ำเปล่าแล้ว

น้ำอัดลม

 

 

                เคยรายงานถึงเรื่องอุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลฟรุกโตสแทนน้ำตาลทราย ซึ่งผลของมันคือ อาหารและเครื่องดื่มจะหวานๆๆๆๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย อย่างน้อยก็จะอ้วนๆๆและที่เรามองข้ามไปคือ ฟันผุ ครับ

                ผมมี ผลสำรวจของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดปี 2555 พบเด็กอายุ 3 ปี ฟันน้ำนมผุถึงร้อยละ 52 เด็กวัยเรียนมีฟันแท้ผุร้อยละ 52  ขณะที่ผู้สูงอายุฟันผุร้อยละ97 และสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ7 ทั้งหมดเป็นผลมาจากการมีฟันผุสะสมมาตั้งแต่เด็ก 

การแก้ไขปัญหา ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์ให้ประชาชนทุกช่วงวัย และทุกเขตสุขภาพแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง  ส่งเสริมให้แม่แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น รณรงค์ฝึกแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ที่สำคัญสนับสนุนให้โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ  ขณะที่อีกฟากหนึ่ง “เครือข่ายณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน”  ขับเคลื่อนทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบูรณาการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมอนามัย ขยายผล “เด็กไทยไม่กินหวาน” เข้าไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวาน ฟันดี มีพัฒนาการสมวัย” รณรงค์ส่งเสริมให้แต่ละศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ปลอดน้ำหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูงๆ

             ที่น่าสนใจถึงปัจจุบัน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สามารถเป็นต้นแบบได้ถึง 1,486 แห่ง ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ

เฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน หนึ่งในต้นแบบ ที่ทางเครือข่ายณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวานเขา พาสื่อมวลชนลงไปดู คือ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองคู” ตำบลหนองคู  อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์  และโรงเรียนหนองหญ้าปล้อง ตำบลมะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ‘อ่อนหวาน’ หนองคู อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์  ผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน มาไม่ต่ำกว่า 5 ปี  “ทพ.เรืองสิทธิ์    นามวิชัยศิริกุล”  ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ลำปลายมาศ เปิดข้อมูลให้ดูว่า ปัญหาเด็กฟันผุในพื้นที่ พบทั้ง 27 ศูนย์เด็กเล็กของอำเภอ  ขณะที่นักโภชนาการก็จัดอาหารมาดูแลเด็กเล็กอย่างไม่เหมาะสม ทั้งอาหารว่าง อาหารกลางวัน ประกอบกับตัวเด็กเองไม่ให้ร่วมมือรักษาฟัน หรือแม้กระทั่งครูพี่เลี้ยงเอง ก็ขาดทักษะการตรวจฟัน จึงเป็นที่มาของทันตกรรมเคลื่อนที่ อุดฟันน้ำนมที่เป็นมิตรกับเด็ก แบบ Smart  โดยไม่ใช้หัวกรอ ช่วยให้เด็กเลิกกลัวหมอฟัน และหมอฟันกลัวเด็กได้ระดับหนึ่ง  รวมไปถึงพัฒนาการทำงานแบบเครือข่าย 27 ศูนย์เด็กเล็กร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วางแผน และทำข้อตกลงร่วมกันสร้าง จนได้มาตรฐานของการพัฒนาเด็กอ่อนหวาน พัฒนาการสมวัย 10 ประการแบ่งเป็นเรื่องการบริโภค 5 ข้อ และเกี่ยวกับช่องปาก 5 ข้อ  1.ห้ามนำขวดนมมาที่ศูนย์เด็กเล็ก 2.ห้ามนำลูกอม หมากฝรั่ง น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3.เด็กต้องดื่มนมจืดทั้งที่บ้านและที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4.รับประทานผลไม้ 5.ดื่มน้ำตามหลังดื่มนมทุกครั้ง 6.มีอุปกรณ์แปรงฟันครบ กิจกรรมแปรงฟันหลังอาหาร 7.ครูผู้ดูแลเด็กต้องแปรงฟันซ้ำให้เด็กที่ฟันผุ และส่งต่อเพื่อรับการรักษาทุกคน 8.มีสมุดจดบันทึกกิจกรรมอ่อนหวานฟันดีทั้งที่บ้าน และที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 9.ให้มีมุมผู้ปกครองอ่อนหวานฟันดี 10.มีกิจกรรมเยี่ยมบ้านอ่อนหวาน ฟันดีกับเด็กทุกคน

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย  ผู้ขับเคลื่อนป้องกันไม่ให้เด็กกินหวาน ทั้งที่บ้านและศูนย์เด็กเล็ก หยิบยกงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า สาเหตุที่เด็กมีฟันผุ ทำให้เด็กคนนั้นเจริญเติบโตไม่สมวัย ขาดสารอาหาร เนื่องจากไม่สามารถบดเคี้ยวได้

                   เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กคนไหนฟันผุเยอะ ก็จะตัวเตี้ย น้ำหนักน้อย สติปัญญาไม่พัฒนา

ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงความเชื่อที่ของผู้ใหญ่ที่คิดว่า เมื่อเด็กเดินได้แล้วเด็กจะแปรงฟันเองได้ สะอาด ซึ่งไม่จริง

“เราจะปล่อยให้เด็กแปรงฟันเองได้ก็ต่อเมื่อเด็กผูกเชือกรองเท้าเองได้ หรืออายุประมาณ 7-8 ขวบ ระหว่างช่วงวัยนี้ผู้ใหญ่ต้องช่วยดูแล แปรงซ้ำให้กับเด็ก โดยเฉพาะก่อนเข้านอน” ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แนะ พร้อมกับคาดหวัง  อย่างน้อยที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลจะพาเด็กแปรงฟันให้ได้ 1 ครั้งหลังอาหารกลางวัน ช่วยลดโรคฟันผุได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ มีข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบว่า โรงเรียนที่มีการขายเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานจะมีเด็กอ้วนเป็น 2 เท่าของโรงเรียนที่ไม่มีการขายน้ำอัดลม และการศึกษาระยะยาวในเด็ก พบเด็กอ้วนแล้วตั้งแต่อายุแค่ 2 ขวบ

ข้อมูลล่าสุด พบผู้ป่วยเบาหวานเป็นเด็กอายุ 8 ขวบ มีน้ำหนักถึง 60 กิโลกรัม การที่เด็กป่วยเป็นโรคเบาหวานต้องกินยาไปตลอดชีวิตนั้น รู้หรือไม่ ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศมหาศาล

ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ตั้งความหวัง ในเมื่อเราไม่อยากให้เด็กดื่มน้ำอัดลม หรือขนมที่มีน้ำตาลสูง เราก็ไม่อยากให้ผู้ใหญ่กิน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงๆ ด้วยเช่นกัน ก่อนขยายผลต่อไปในงานประเพณี งานบุญ งานศพ  “การดื่มเหล้า ดื่มน้ำอัดลม ถือเป็นเรื่องปกติ เราจึงต้องรณรงค์ให้ทุกคนมองว่า การดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด ไม่ได้บังคับว่า ไม่ให้มีสิ้นเชิง แต่ชุมชนควรให้ความสำคัญเรื่องบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง

                   ล่าสุดมีรายงานน่าสนใจว่า  ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่แห่งแรกที่กล้าหาญ ลุกขึ้นประกาศเจตนารมณ์เป็น ตำบลดื่มน้ำเปล่าทั้งตำบล นำโดยผู้บริหารโรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ กับโรงเรียนในเครือข่าย 9 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบุแปบ เทศบาลตำบลทะเมนชัย องค์กรบริหารส่วนตำบลทะเมนชัย ประธาน อสม. และผู้นำชุมชน

อาจารย์ทรงศักดิ์ สิรัมย์ ผู้อำนวยการ ร.ร.หนองหญ้าปล้อง ให้ข้อมูลถึงความเชื่อของคนในชุมชน ที่ยังมีความเชื่อว่า น้ำอัดลมสะอาดกว่าน้ำดื่ม ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ได้ เริ่มต้นจากผู้บริหาร และครูทุกคนทำตัวเป็นแบบอย่างก่อน จนกระทั่งวันนี้ เรายืนยันเวลานี้สถานศึกษาแห่งนี้ปลอดน้ำอัดลม 100% รวมถึงโรงเรียนเครือข่าย  ส่วนคนในชุมชน เขาเห็นว่า เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบ้างแล้ว และการประกาศเจตนารมณ์เป็น “ตำบลดื่มน้ำเปล่า” ทั้งตำบล นั้น เป็นเรื่องดีซึ่งก็ต้องค่อยๆทำกันไป อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง

ผู้สื่อข่าวไปพบ  คุณสมพร แก้วกล้า เจ้าของร้านอาหารซุ้มซูจี ตำบลเทะเมนชัย   เธอบอกว่า ร้านอาหารตามสั่งของเธอ  ไม่ได้ให้ลงน้ำอัดลมมานานแล้ว โดยจัดจุดบริการน้ำเปล่าไว้ให้ลูกค้าดื่มฟรี  ส่วนลูกค้าคนไหนอยากดื่มน้ำเปล่าบรรจุขวด ก็มีบริการจำหน่าย

สำหรับพื้นที่ชนบทยังมีวัฒนาธรรมเวลาไปงานบุญ งานศพ งานบวช เลี้ยงโต๊ะจีน หรือห่ออาหารกลับบ้านผู้สื่อข่าวถามเธอว่า “ มีเสิร์ฟน้ำอัดลมอยู่หรือไม่  “ เธอ บอกว่า” บางงานยังเห็นอยู่ แต่มาพักหลังๆ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีการนำน้ำอัดลมมาตั้งบนโต๊ะแล้ว บางงานเปลี่ยนเป็นน้ำผลไม้ เป็นกล่องๆ แทน

                  พร้อมกันนี้เธอแสดงความเห็นว่า   แรกๆ เห็นการณรงค์ก็ขำ “อะไรมารณรงค์มา ดื่มน้ำเปล่า”  เธอเห็นว่า อาจต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนทัศนคติสำหรับคนในชุมชนแห่งนี้

                    แต่กับเด็กนั้น สมพร มั่นใจอาจจะเปลี่ยนได้เร็วกว่า เพราะถูกปลูกฝังมาจากที่โรงเรียน พร้อมกับยกตัวอย่างลูกของเธอทั้ง 3 คน ไม่มีใครติดน้ำอัดลมเลยสักคน โดยเฉพาะลูกสาวคนเล็ก   ไม่ติดน้ำอัดลม เพราะเธอสอนให้ดื่มน้ำเต้าหู้มาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยร้องขอให้ซื้อน้ำอัดลมเลย

                     ปัญหาคือ น้ำสะอาด การจัดหาน้ำสะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ถือเป็นบริการพื้นฐานเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐพึงมีให้กับประชาชนอยู่แล้ว จะดีไม่น้อยหากควบคุมราคา ให้น้ำเปล่า น้ำดื่ม มีราคาถูก

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ