วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ตร.ภาค 5 อบรมเพื่อพัฒนาความรู้เรื่องโรคเอดส์และการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี

Spread the love

101782

ตร.ภาค 5 อบรมเพื่อพัฒนาความรู้เรื่องโรคเอดส์และการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี

 

 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 60 เวลา 08.45น. พล.ต.ต.พิทยา ศิริรักษ์ รอง ผบช.ภ.5 (ปป1) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความรู้เรื่องโรคเอดส์ และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แก่ข้าราชการตำรวจ สังกัด บก.อก.ภ.5 ,บก.สส.ภ.5 และ ภ.จว.เชียงใหม่ รวม 100 นาย พร้อมกับ พล.ต.ต.หญิง พรเพ็ญ บุนนาค นายแพทย์ (สบ6) รพ.ตร. และคณะวิทยากร ณ ห้องธาราทอง บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

จากการประมาณการจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ เอชไอวี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรียงลำดับจากประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุด ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากประเทศอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย  สถานการณ์โรคเอดส์ของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี  ทั้งหมด 460,000 คน เป็นชาย  260,000 คน  มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,200 คน เฉลี่ยวันละ 23 คน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ ประมาณ 20,000 คน เฉลี่ยวันละ 55 คน การแพร่ระบาดของเชื้อ เอชไอวี ส่วนใหญ่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 90 ในจำนวนนี้มากกว่าร้อยละ 55 ติดเชื้อ จากการมีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย

ความชุกของการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มชายรักชาย  แยกประเภท เป็นกลุ่มสาวประเภทสอง (TG) พบการติดเชื้อ เอชไอวี สูงสุดในจังหวัดชลบุรี ร้อยละ 16.5 รองลงมาเป็น จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 13.3 กลุ่มที่สองคือกลุ่มพนักงานบริการชาย หรือ Men Sex Work; MSW พบสูงสุดในจังหวัดภูเก็ตคือร้อยละ 24.8 0y จังหวัดเชียงใหม่พบเป็นอันดับที่ 4 ร้อยละ 6.7  กลุ่มที่สามชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) พบการติดเชื้อสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 19.8 รองลงมาคือ จ.เชียงใหม่ พบ ร้อยละ 14

นโยบายของคณะกรรมการเอดส์ชาติให้ยกระดับการทำงาน จากการควบคุมโรคเอดส์ มาเป็นการยุติปัญหาโรคเอดส์  มีเป้าหมายคือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี รายใหม่  ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ ไม่มีการตีตรา และไม่มีการเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ เอชไอวี  รวมทั้งเร่งสร้างแนวคิดใหม่ “โรคเอดส์ รู้เร็ว รักษาได้” โดยมาตรการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์และส่งเสริมให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์การติดเชื้อ เอชไอวี ของตนเอง ด้วยการตรวจเลือดฟรี ปีละ ๒ ครั้ง  หากพบว่ามีการติดเชื้อ จะได้รีบรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสโดยเร็ว ไม่ต้องรอให้มีปริมาณเม็ดเลือดขาวลดต่ำลง  ซึ่งหากดำเนินการตามกลยุทธ์นี้  เชื่อว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงเหลือเพียง 1,000 ราย  คณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินโครงการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ให้กับข้าราชการตำรวจและประชาชนจึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ มีความตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เอชไอวี รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ  เกิดความเชื่อมั่นในแนวคิด “โรคเอดส์ รู้เร็ว รักษาได้” นำสู่แนวทางปฏิบัติในการยุติปัญหาเอดส์ เป็นการสร้างเสริมกำลังพลที่มีคุณภาพให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประเทศชาติต่อไป

101794

102822

S__23740612

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ

รายงาน