วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

จับตาการเมืองร้อนถอดถอน สุเทพ เทือกสุบรรณ

Spread the love

จับตาการเมืองร้อนถอดถอน “สุเทพ  เทือกสุบรรณ” แทรกแซงหน่วยงานรัฐ “วืด” สว.เสียงไม่ถึง 89 ตามคาด  “เพื่อไทย” ติง สว.ควรทำตามข้อกฎหมายพิสูจน์ศรัทธาประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงาน จาก กรณีวันที่ 18 กันยายน ที่ ส.ว.จะลงมติถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายสุเทพ ที่ส่ง ส.ส. 19 คน ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นการแทรกแซงข้าราชการ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 โดยมีกระแสข่าวว่าทั้งพรรคพท.และพรรคปชป.พยายามล็อบบี้ส.ว.นั้น

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นว่ามีการล็อบบี้ ส.ว. ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยวันที่ 17 กันยายน จะเป็นการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาทั้งจาก ป.ป.ช.และนายสุเทพ ผู้ถูกร้องจะเป็นแนว ทางในการตัดสินใจให้ ส.ว.ใช้ดุลพินิจ

“ผมมองว่าการลงมติคดีนายสุเทพจะ เป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของวุฒิสภาได้ เป็นอย่างดีว่าได้ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว.ที่ต้องขจัดนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ โดยต้องทำหน้าที่อย่างละเอียดรอบคอบ ตัดสินบนความถูกต้อง กระบวนการถอดถอนต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องทำให้การประชุมเป็นไปอย่างโปร่งใส แม้จะมีบางครั้งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอให้ประชุมลับ แต่ผมก็คัดค้านเพราะ เป็นเรื่องที่สังคมต้องรับทราบและร่วมตรวจสอบได้ ยืนยันว่าการทำหน้าที่ครั้งนี้เป็นไปอย่างยุติธรรม และเชื่อว่าการเดินสายล็อบบี้ไม่ว่าจากฝากไหนจะไม่เป็นผล ไว้วางใจ ส.ว. ได้ เพราะแต่ละท่านมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง” นายสุรชัยกล่าว

ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า กรณีถอดถอนนายสุเทพครั้งนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่ ส.ว.จะลงมติอย่างไรเป็นสิทธิส่วนบุคคล เท่าที่ดูท่าทีของ ส.ว.แต่ละท่านก็มีความก้ำกึ่ง ในส่วนของ ส.ว.เองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มก็มองว่าเป็นความผิดชัดแจ้ง แต่บางกลุ่มก็มองว่าความผิดไม่ร้ายแรง ยังไม่เกิดการกระทำ ส่วนการล็อบบี้นั้นเป็นธรรมดา เพราะ ส.ว. แต่ละท่านก็มีหมู่พวกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการพูดคุยกันเป็นวิถีทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้

“คิดว่าเสียงที่จะถอดถอนนายสุเทพ ไม่น่าจะถึง 3 ใน 5 หรือประมาณ 89 เสียง คาดว่าจะมีประมาณ 60 เสียงที่ลงมติถอดถอนนายสุเทพ ส่วน ส.ว.สายสรรหาน่าจะเป็น ตัวชี้ขาด เพราะมีทั้งกลุ่มที่ไม่ชื่นชอบนาย สุเทพและกลุ่มที่ยังอยู่กลางๆ คิดว่า ส.ว.จะพิจารณาโดยอิสระจากหลักฐานที่ได้อ่านและฟังอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่มาชี้แจง”นายดิเรกกล่าว

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยความคิดเห็นประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,299 คน ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน กรณีการถอดถอนนายสุเทพพบว่า ร้อยละ 34.46 เชื่อว่าหากนายสุเทพมีพฤติกรรมที่ผิดจริงตาม ข้อกล่าวหา ก็ต้องพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน รองลงมา ร้อยละ 29.34 ต้องการ ให้ตัดสินตามความยุติธรรม โปร่งใส ตรงไปตรงมาไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

นอกจากนี้ ร้อยละ 44.15 ยังไม่แน่ใจว่า ในวันที่ 18 กันยายนนี้ ที่จะมีการประชุม ลงมติถอดถอน นายสุเทพจะสำเร็จหรือไม่ เพราะต้องรอฟังผลมติจากที่ประชุม ส.ว.ว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ตลอดจนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชี รายชื่อ พรรค ปชป. กล่าวว่า พรรค ปชป.และนายสุเทพเชื่อในความเป็นอิสระและวิจารณญาณของ ส.ว.แต่ละคน และไม่ว่าจะมีมติออกมาเป็นอย่างไร พรรค ปชป.และนายสุเทพน้อมรับคำตัดสิน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ส.ว.ที่มีอยู่ขณะนี้ 146 คน การถอดถอนต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ 89 เสียง และมีกระแสว่าน่าจะถอดถอน ไม่ได้นั้น ตนในฐานะที่เป็นผู้ร้องคดีนี้เห็นว่าการกระทำของนายสุเทพน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า วุฒิสภาปัจจุบันมีวุฒิภาวะ อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ของ ส.ว.ที่จะดำเนินการถอดถอนนักการเมืองเพราะที่ผ่านมายังไม่สามารถถอดถอนได้ เชื่อว่า วุฒิสภาจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ผิดก็ว่าไปตามผิด และไม่น่าจะมีการล็อบบี้ ขอเรียกร้องให้ ส.ว.ทำตามข้อกฎหมาย
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า กรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป.แสดง เอกสารของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่ตอบรับเรื่องที่นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบคดี ฆ่าตัดตอนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่เป็นเพียงการตอบจดหมายถึงความยินดีที่มาพบและเชิญชวนให้ไทยเป็นสมาชิกไอซีซีเท่านั้น แต่พรรค ปชป.ตีปี๊บใส่สีตีไข่

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ตนแปลกใจที่คนในพรรค ปชป.ทำไมมุ่งแต่เรื่องฆ่าตัดตอน ทั้งนี้สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดีฆ่าตัดตอน แต่ก็ไม่มีหลักฐาน กรณีนี้พรรค ปชป.น่าจะเป็นตัวตลกระหว่างประเทศ ตนมองว่าพรรค ปชป.จะเอาคืนกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฟ้องรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สลายการชุมนุมจนมี ผู้เสียชีวิต 98 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ทั้งที่ก่อนที่พรรค ปชป.ไปยื่นเรื่องก็ควรเอาหลักฐานมาให้ดำเนินคดีในไทยก่อน

นายพร้อมพงศ์กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศที่ออกหนังสือเดินทาง (พาสสปอร์ต) ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศและให้ชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน ว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่าทำถูก ต้องตามระเบียบ ตนตั้งข้อสังเกตผู้ตรวจการแผ่นดินชุดนี้ที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักตรวจสอบเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจสอบทุกเรื่องที่สอดคล้องกับฝ่ายค้าน อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินบางคนดำเนินการแทรกแซงรัฐบาลด้วย

“การออกหนังสือเดินทางสามารถทำได้ แต่กลายเป็นประเด็นการเมืองให้ฝ่ายค้านนำไปเป็นเกมการเมือง ทั้งที่ในสมัยที่นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถอนหนังสือเดินทาง พ.ต.ท.ทักษิณแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับไม่ตรวจสอบว่าชอบหรือไม่ ครั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศได้คืนความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินมาดำเนินการเรื่องนี้น่าจะมีนัยยะทางการเมือง จึงอยากให้ทบทวนบทบาทของผู้ตรวจการ แผ่นดินด้วย” นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าการออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท. ทักษิณดำเนินการถูกต้องว่า น่าเป็นห่วงเพราะจะกระทบต่อมาตรฐานด้านจริยธรรมของรัฐบาล เมื่อหน่วยงานอิสระทำความเห็นมาก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในหลายเรื่อง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะก่อนหน้านี้มีการชี้ประเด็นเกี่ยวกับ การแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีว่าไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรม แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทบทวน รวมถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลเรื่องของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง ขณะเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยทุจริตต่อหน้าที่กรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ระบุว่า จะยุบผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นปัญหาว่า รัฐบาลไม่ยอมรับการตรวจสอบถ่วงดุลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ รัฐบาลจึงควรเคารพเจตนารมณ์นี้และดำเนินการตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้จะต้องดูรายละเอียดการสรุปของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าระบุมาตรการที่จะต้องดำเนินการอย่างไร และทุกเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งกลับไปยังรัฐบาลแล้ว ไม่มีการดำเนินการนั้น ทางพรรครวบรวมไว้แล้วเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร และเห็นว่า นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ควรจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริต หรือเรื่องจริยธรรม แต่ถ้าปล่อยปละละเลยก็ยิ่งตอกย้ำปัญหาที่สังคม มองการเมืองในทางลบด้วย

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน