วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

จังหวัดเชียงใหม่เตรียม Kick off การรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2557

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่เตรียม Kick off การรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2557

 

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2557 (Kick off) วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งจะมีพิธีประกาศวาระของจังหวัดเชียงใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และระดมเงินสนับสนุน”กองทุนสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่” เพื่อนำเงินช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามป้องกันไฟป่าใน 1,002 หมู่บ้านของจังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะนี้มียอดเงินในกองทุนฯ จำนวน 686,063.50 บาท

วันนี้ (8 ต.ค.56) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสุรพล สัตยารักษ์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหารือการจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00น. ณ สนามภายในอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมหลักกำหนดให้มีพิธีประกาศวาระของจังหวัดเชียงใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และระดมเงินสนับสนุน“กองทุนสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่” เพื่อนำเงินช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามป้องกันไฟป่าใน 1,002 หมู่บ้านของจังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะนี้มียอดเงินในกองทุนฯ จำนวน 686,063.50 บาท พิธีมอบธงตราสัญลักษณ์รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่แก่นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอเพื่อนำไปรณรงค์ในพื้นที่ของตนเองต่อไป การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับไฟป่าและหมอกควันโดยหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ การจัดคลินิกสิ่งแวดล้อมรับแจ้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงใหม่ การปล่อยแถวขบวนรถรณรงค์กว่า 50 คัน การแสดงดนตรีพื้นเมือง และกิจกรรมอื่น ๆ โดยกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว จำนวนประมาณ 3,000 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคเอกชน อาทิ สถานประกอบการ ที่พัก โรงแรม ด้วย

นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 – ปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2556 ในช่วง 100 วันอันตราย คุณภาพอากาศโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับดีถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุด 212 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 140 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 และต่ำสุด 21 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 26 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 โดยมีจำนวนวันที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศเกินมาตรฐาน จำนวน 25 วัน มีรายงานการเกิดไฟป่า จำนวน 1,172 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหาย 12,758.85 ไร่ ซึ่งมากกว่าปี 2555 ซึ่งมีการเกิดไฟป่า จำนวน 859 ครั้ง พื้นที่ป่าเสียหาย 6,245.50 ไร่ สำหรับสถิติจุดความร้อนที่คาดว่าเป็นการเผาในที่โล่ง (hotspot) พบรายงานจุดความร้อน (hotspot) สะสมจำนวน 2,153 จุด สูงสุดที่อำเภอแม่แจ่ม 525 จุด รองลงมาคืออำเภออมก๋อย 441 จุด และอำเภอเชียงดาว 191 จุด น้อยที่สุดที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอสารภี อำเภอละ 1 จุด และที่อำเภอสันป่าตอง ไม่พบจุดความร้อน (hotspot) แต่อย่างใด สำหรับจำนวนผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะมลพิษหมอกควัน ซึ่งเป็นข้อมูลผู้ป่วยนอกที่มารับบริการรายวันจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใน 4 กลุ่มโรค คือ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจหลอดเลือด โรคตา และโรคผิวหนัง จำนวน 69,830 ราย ซึ่งน้อยกว่าปี 2555 ที่ผ่านมา

และเมื่อวันพฤหัสที่ 22 สิงหาคม 2556 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดมาตรการและจัดทำแผนเตรียมความพร้อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2557 ณ โรงแรมกรีนเลครีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการระดมความคิดจากทุกภาคส่วน มีบุคคลเป้าหมายร่วมประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ (ในระดับชุมชนหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ) ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเครือข่ายทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และประชาชน รวมทั้งบริษัทผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพด เป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมความคิดในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน และจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในปี 2557 สำหรับใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันให้ยั่งยืน ผลการประชุมสรุปได้เสนอแนวคิดในการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันแบ่งเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

1. พื้นที่บริหารจัดการไฟป่า 5 กลุ่ม (มีการใช้มาตรการผสมผสานทั้งให้มีการใช้ไฟและไม่ให้มีการใช้ไฟโดยขึ้นกับสถานที่และช่วงเวลาผ่านระบบการสั่งการรวม) ประกอบด้วย พื้นที่ที่ประชาชนทำกินมานาน การชิงเผาพื้นที่ป่าแห้งป่าผลัดใบ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อเพลิง พื้นที่ป่าดำรงชีพ (ชาวบ้านเผาเพื่อเก็บเห็ด, ผักหวาน) พื้นที่ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 ที่ประชาชนได้ยื่นคำร้องแจ้งการครอบครองไว้ และ พื้นที่ตามมติ ครม. 11 พฤษภาคม พ.ศ.2542 ที่ประชาชนได้ยื่นคำร้องแจ้งการครอบครองไว้

2. วิธีการ/ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกินตามมติ ครม. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประชาสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการศึกษาวิจัย และขยายผลองค์ความรู้

3. ข้อห้าม/ข้อควรระวัง ประกอบด้วย ป่าดิบเขา/ป่าดิบแล้ง/ป่าเบญจพรรณ เป็นพื้นที่เปราะบางไม่ควรมีไฟป่าเกิดขึ้น การใช้ไฟจัดการเชื้อเพลิงต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ และหลังเดือนมีนาคม การใช้ไฟการจัดเชื้อเพลิงให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยมีการแบ่งพื้นที่จัดการและมีการทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าลุกลามไปนอกพื้นที่อย่างเคร่งครัด

4. ช่วงเวลาดำเนินการ การจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ให้ทำได้ก่อนฤดูการเกิดไฟป่า (ต.ค. – ธ.ค.) ห้ามมีการใช้ไฟทุกประเภทในช่วง 100 วันอันตราย (ม.ค.-เม.ย.) ยกเว้นพื้นที่บางแห่งที่มีการขออนุญาตเป็นกรณีๆ ไป และการประชาสัมพันธ์ควรทำตลอดทั้งปี คือเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

5. การกำหนดผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย พื้นที่ชุมชนหมู่บ้าน รับผิดชอบโดย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่เกษตรทำกิน รับผิดชอบโดย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ รับผิดชอบโดย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 ส่วนป่าอนุรักษ์ รับผิดชอบโดย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ รับผิดชอบโดย สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่และสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ส่วนการศึกษาวิจัย ขยายผล องค์ความรู้ รับผิดชอบโดย สถาบันการศึกษา

………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ราตรี  จักร์แก้ว      สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่                          7 ตุลาคม  2556

 

สำนักข่าว

cnxnews รายงาน