วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

จังหวัดเชียงใหม่ร่วมเวทีการจัดการตัวเอง จัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควัน

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่ร่วมเวทีการจัดการตัวเอง จัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควัน เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555 เวลา 16.00 น. ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะทำงานความร่วมมือแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควัน จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่จัดการตนเองและเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ และรายการเวทีสาธารณะของไทยพีบีเอส  จัดเวทีสาธารณะเรื่องเชียงใหม่จะร่วมมือจัดการปัญหาไฟป่า-หมอกควันได้อย่างไร เพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องร่วมข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนงานทั้งในระดับนโยบายและควบคุมการสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติระดับพื้นที่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง

ซึ่งในเวทีสาธารณะครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.สุทธินี ดนตรีคณะสังคม มช. (ที่มา/สาเหตุการเกิดปัญหาหมอกควัน, นายอดุลย์ ใจเป็งหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ (ย้อนมองการจัดการภาครัฐ) ,นายไตรภพ แซ่ย่าง(ย้อนมองการจัดการภาคประชาชน), ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (บทเรียนการจัดการไฟป่าระดับโลก กับแนวทางการจัดการไฟป่าลดปัญหาหมอกควันในประเทศไทย),นายไพรัช ใหม่ชมพูตัวแทน อบจ.เชียงใหม่ (บทบาทท้องถิ่นกับการจัดการหมอกควัน),นายวิทยา ครองทรัพย์* เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่,นายเดโช ไชยทัพมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ (ข้อเสนอเชิงระบบเพื่อการปฏิรูประบบการแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควัน) ดำเนินรายการด้วย นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์พิธีกร

ด้านผศ.ดร.สุทธินี ดนตรีคณะสังคม มช. เผยถึงที่มาของการเกิดหมอกควันว่า แท้จริงแล้วหมอกควันคือปรากฏการณ์ที่ ฝุ่น ควัน ลอยอยู่ในอากาศรวมกันจนเป็นสภาวะอากาศปิด เกิดขึ้นง่ายในสภาพอากาศแห้ง  รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ที่เอื้อให้เกิดหมอกควัน ได้แก่ พื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ หรือพื้นที่ปิดระหว่างทุบเขา ทำให้มวลอากาศเย็นอยู่ใกล้พื้นดิน เพราะมีความหนาแน่นและมีน้ำหนักมากกว่ามวลอากาศร้อน ทำให้ปิดกั้นการถ่ายเทความร้อน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ภาคเหนือเกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมนั้นมีหลายสาเหตุเช่น ขี้เถ้าจากการเผาใบไม้และขยะ ควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์

หมอกควันไม่ใช้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมพันกับวิถีชีวิต การใช้และการจัดการทรัพยากรของทั้งคนเมืองและคนชนบท ดังนั้นจึงไม่สามารถแก้ไขด้วยด้วยการจัดการแบบแยกส่วน โดยต้องมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนส่งเสริมองค์กรภาคประชาชนทั้งภาคเมืองและภาคชนบท รวมถึงภาครัฐให้เข้ามาร่วมปฏิบัติการในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นองค์กรรวม ในขณะเดียวกันแต่ละส่วนก็มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ปฏิบัติการและกิจกรรมของตนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ด้านนายไตรภพ แซ่ย่างพ่อหลวงบ้านหมู่บ้านดอยปุย ภาคประชาชนได้แสดงความเห็นในเรื่องของการจัดการโดยชุมชนว่า เราเชื่อว่าชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งมีความรู้และศักยภาพในการจัดการกับไฟป่ามากพอสมควร และหากสังคมได้มีส่วนช่วยเสริมกระบวนการเรียนรู้ สนับสนุน และให้กำลังใจชุมชนเหล่านี้ได้พัฒนาศักยภาพในการจัดการไฟที่เหมาะสมด้วยตนเอง ชุมชนจะสามารถพัฒนาแนวทางการจัดการไฟป่าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  และในแง่หนึ่งสามารถมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของรัฐที่อาจจะมีข้อจำกัดในด้านบุคลากรและงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการกับไฟป่าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและบนพื้นฐานของความรู้ที่หลากหลาย และสามารถปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบนิเวศน์และต่อชีวิตมนุษย์โดยรวมได้อย่างแท้จริง

นายเดโช ไชยทัพมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ เผยถึงศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการปัญหาหมอกควันว่า  ในส่วนของภาคชนบทโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับป่าความรู้ในเรื่องการจัดการไฟป่าที่หลากหลายเช่น การชิงเผากำจัดเศษวัชพืช ในป่าผลัดใบหรือการเผาโดยกำหนดขอบเขต การทำแนวป้องกันไฟป่าและดับไฟป่าโดยชุมชน การลาดตระเวนตรวจไฟป่า การปล่อยวัวเข้าไปกินหญ้าเพื่อกำจัดเชื้อเพลิง การจัดการไฟในไร่ และการทำฝายชะลอน้ำ ทั้งหมดนี้นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้ร่วมปฏิบัติกันสืบทอดมาเป็นระยะเวลานานที่เรียกว่าการจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสู่การแก้ปัญญาปัญหาไฟป่าได้ โดยหากภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนชุมชนในเรื่องการพัฒนาศักยภาพในการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม เชื่อว่าชุมชนจะมีส่วนช่วยการทำงานของภาครัฐทั้งในเรื่องบุคลากรและงบประมาณ  เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือในเรื่องการจัดการเรื่องไฟป่าและหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงภายใต้ข้อยัดแย้งต่างๆ

ด้านดร.ธัชยพงษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยถึงแนวทางการจัดการไฟป่า-หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ว่าต้องให้ปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบริหารจัดการของรัฐ ไปสู่หลักการจัดการร่วมกับประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรมากขึ้นโดยเลือกใช้ความรู้ในการบริหารจัดการไฟป่าให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขและบริบทของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมาตรการห้ามเผาอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้ต้องทำให้เกิดการบูรณาการแผนที่เป็นจริงทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ เพราะในปัจจุบันแต่ละหน่วยงานยังคงยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าตามแผนงานที่หน่วยงานของตนวางแผนไว้เป็นหลัก แต่ขาดความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีแผนในภาพรวมหรือในระยะยาวและยกระดับความสามารถขององค์กรชุมชนเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการไฟป่า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์และสื่อสารเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการใหม่ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมในการจัดการไฟป่า ความรู้และรูปแบบการจัดการไฟป่าแบบต่างๆ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง

โดยมติในเวทีเสวนาต่างร่วมกันต้องการจะให้มีการจัดเวทีขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ภาครัฐชี้แจงบทบาทหน้าที่ รวมถึงแนวความคิด การปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อหาช่องทางในการร่วมมือแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมทั้งให้เกิดความร่วมมือทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญญา.

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน