จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) 

 

1082674_222007034617071_1346454346_n112

จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดเชียงใหม่ การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูประดับอำเภอ จำนวน 25 อำเภอ และการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ระดับท้องถิ่น จำนวน 211 แห่ง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ารักสามัคคีกัน ให้ความร่วมมือกับภาคราชการเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีระเบียบวินัย ร่วมกันนำประเทศไทยกลับคืนสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทย   ได้แจ้งแนวปฏิบัติในห้วงประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และจากการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อหารือนโยบาย/แนวทางขับเคลื่อนภารกิจของคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในส่วนของฝ่ายความมั่นคง ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)           ที่ 22/2557 ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงเป็นประธานการประชุม ได้มอบหมายภารกิจสำคัญเร่งด่วนเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ให้จังหวัดจัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ารักสามัคคีกัน ให้ความร่วมมือกับภาคราชการเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีระเบียบวินัย ร่วมกันนำประเทศไทยกลับคืนสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง และทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งมุ่งเน้นให้ประชาชนไทยมีระเบียบวินัย รักษากฎหมายยิ่งขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปไปแล้ว ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดเชียงใหม่ การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูประดับอำเภอ จำนวน 25 อำเภอ และการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ระดับท้องถิ่น จำนวน 211 แห่ง โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการศูนย์ และอำนาจหน้าที่ ดังนี้

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดเชียงใหม่ มีคณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการ โดยมี ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็น กรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. เป็นศูนย์กลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินและเป็น

ศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนที่มีต่อรัฐ

  1. เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์

สลายแนวคิดที่แตกต่างและป้องกันไม่ให้มีการปลุกระดมมวลชน ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างที่เป็นมาก่อนในอดีต

 

 

  1. เป็นองค์กรในการส่งเสริมการแสดงออกในด้านความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ

ประเทศชาติโดยรวม เป็นเวทีที่จะนำประชาชนที่มีความขัดแย้งทุกกลุ่มทุกฝ่าย มาเปิดใจพูดคุยกันอย่างสันติวิธี เพื่อลบความรู้สึกอคติต่อการที่เห็นต่างทางการเมือง

  1. สร้างสำนึกว่าทุกกลุ่มทุกฝ่ายล้วนมีความรักใคร่ สามัคคี ปรองดองกันอยู่แล้วในถิ่นด้วยความมี

จารีตวัฒนธรรม ประเพณี มีศีลธรรมในสายเลือดและจิตใจสืบต่อกันมาเป็นชนชาติที่รักสงบ รักพวกพ้อง      รักถิ่นเกิด และอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูประดับอำเภอ มีองค์ประกอบของคณะทำงาน อย่างน้อยประกอบด้วย 3 ภาคส่วน ได้แก่ ตัวแทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตัวแทนจากองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ และนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา การเมืองการปกครอง และกฎหมาย(ถ้ามี) โดยมี นายอำเภอ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน หัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันทุกตำบล เป็นคณะทำงาน และปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่ายบริหารงานปกครอง เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. อำนวยการ ประสานงาน บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยการสร้างความรัก ความสามัคคี ตังแต่สถาบันครอบครัว ระดับชุมชน ตำบล/หมู่บ้าน

2. กำหนดแผนงานและแนวทางการดำเนินงานให้สอดรับต่อข้อสั่งการของ คสช. กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูประดับจังหวัด และบริบทของสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอ

3. ชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจในแนวทางการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นไปด้วยความราบรื่น

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ระดับท้องถิ่น มีคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย นายอำเภอ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร และ ผู้บัญชาการ/หัวหน้าหน่วยทหารในพื้นที่ ส่วน องค์ประกอบคณะทำงาน ประกอบด้วย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธาน ประธานสภาท้องถิ่นเป็นรองประธาน รองนายกฯ อปท.  หัวหน้าส่วนทุกส่วน ผู้นำองค์กรในพื้นที่ เป็นกรรมการ โดยมี ปลัด อปท. เป็นคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. ประสานงานหรือบูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ระดับจังหวัด/อำเภอ และ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือหน่วยงานทหารในพื้นที่

  1. จัดทำโครงการ/กิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของประชาชนในท้องถิ่นอย่าง

ต่อเนื่อง โดยมีลักษณะของกิจกรรม ดังนี้

–      จัดอบรม ประชุมชี้แจง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีในการสร้างความปรองดอง

สมานฉันท์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า

–      จัดกิจกรรมกีฬา นันทนาการ เพื่อสร้างความรู้รักสามัคคีโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

  1. ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ โดยให้เปิดรับข้อมูลข่าวสารทางสื่อทุกประเภทจากทุกสำนัก/

แหล่งข่าวไม่เอนเอียงหรือรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อใดหรือจากสำนัก/แหล่งข่าวใดเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเป็นกลาง ความสมบูรณ์และความถูกต้อง เมื่อได้ตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของข้อมูลข่าวสารแล้ว หากจะนำไปเผยแพร่จะต้องคำนึงถึงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคมตามนโยบายและแนวทางในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

CNX NEWS รายงาน