จังหวัดเชียงใหม่ขยายเครือข่ายอาหารปลอดภัย

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่ขยายเครือข่ายอาหารปลอดภัย ภายใต้ชื่อร้าน “ผักดี”

จังหวัดเชียงใหม่พัฒนาเครือข่ายการตลาดพืชอาหารปลอดภัย ภายใต้ชื่อร้าน “ผักดี” จำหน่ายในตลาดเชียงใหม่อาหารปลอดภัย ทุกวันอาทิตย์ ที่โครงการจริงใจมาร์เกต และตลาดอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมมุ่งขยายสู่กลุ่มโรงเรียน ชี้ผลจากการตรวจสารเคมีตกค้างในร่างกายในกลุ่มตัวอย่างนักเรียน พบสารเคมีตกค้างในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 95

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา  เวลา 13.30 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนงานพัฒนาเครือข่ายการตลาดพืชอาหารปลอดภัยจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องพิณทอง โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม

ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาเครือข่ายการตลาดพืชอาหารปลอดภัย กล่าวว่า กรอบแนวคิดในการดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายการตลาดพืชอาหารปลอดภัย ประกอบด้วย 3 พวงมาลัยขับเคลื่อน ได้แก่ การตลาด ผู้บริโภค และการผลิต โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนารูปแบบ กลไก มาตรการ นโยบายและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อน การผลิต การตลาดพืชอาหารปลอดภัยในจังหวัดเชียงใหม่อย่างครบวงจร และสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนารูปแบบการดูแลด้านสุขภาพในกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้มีน้ำหนักเกิน และผู้มีภาวะโภชนาการบกพร่อง เป็นต้น โดยดำเนินงานใน6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การผลักดันนโยบายการผลิต การตลาด การบริโภคพืชอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน การสนับสนุนส่งเสริมการขยายตลาดพืชอาหารปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้ผลิตพืชอาหารปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมพลังผู้บริโภค  การส่งเสริมการสื่อสารสู่สาธารณะ และการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้

ในปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการขยายตลาดนอกชุมชนโดยการตั้งจุดรวบรวมผลผลิต ในชื่อร้าน”ผักดี” โดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งอยู่ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รับผลผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานพืชเชียงใหม่อาหารปลอดภัยจากเกษตรกรเครือข่ายที่ส่งผักเข้าร้านผักดีจาก 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.สารภี อ.สันทราย อ.แม่วาง อ.สะเมิง อ.ดอยหล่อ อ.แม่แตง อ.ฮอด องแม่ริม อ.แม่ออน อ.แม่แจ่ม และ อ.พร้าว จำนวนปริมาณผัก 2.33 ตัน/สัปดาห์หรือเฉลี่ย 322 กก./วัน กระจายสู่ร้านอาหาร 9 แห่ง โรงครัว โรงพยาบาล 1 แห่ง โรงอาหารมหาวิทยาลัย 1 แห่ง ริมปิงซุปเปอร์มาร์เกต 7 สาขา ห้างสรรพสินค้าแมคโคร 1 สาขา ตลาดสด 5 แห่ง ร้านค้าในชุมชน 6 ชมชน รวมทั้งจัดส่งผลิตภัณฑ์ผักดี Delivery ส่งถึงบ้าน และส่งผักพร้อมบริโภคส่งร้านกั๊ตจัง หมูจุ่ม&สุกี้ จำนวน 2 สาขาบริเวณสี่แยกหนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังวางจำหน่ายพืชอาหารปลอดภัยในตลาดนัดต่างๆ ได้แก่ ตลาดเชียงใหม่อาหารปลอดภัย ณ โครงการจริงใจมาร์เกต ทุกวันอาทิตย์ เวลา 8.00 – 16.00 น. โรงเรียนมงฟอร์ต(มัธยม) โรงเรียนวัดเชียงยืน คณะทันตแพทย์ และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลาดนัดถนนคนเดินฮาลาล ทุกวันศุกร์ ณ มัสยิดบ้านฮ่อ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลประสาท และวางจำหน่ายในตลาดสดต่างๆ ได้แก่ ตลาดวโรรส โดยเกษตรกรกลุ่ม  ต.หนอแหย่ง ตลาดหนองหอย โดยเกษตรกรกลุ่ม อ.สารภี ตลาดสันป่าข่อย โดยกลุ่มเกษตรกร ต.แม่ทา ตลาดผดุงดอยแดน โดยเกษตรกร อ.ดอยสะเก็ด ตลาดศิริวัฒนา ตลาดแม่เหียะ ตลาดแม่โจ้ ตลาดบ้านท่อ และตลาดช้างเผือก

ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานสาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ยังได้มุ่งให้สถาบันการศึกษาทั้งระดับอุดมศึกษา โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก จัดซื้อจัดหาผลผลิตพืชอาหารปลอดภัยปรุงประกอบและจำหน่ายแก่นักเรียนนักศึกษา โดยในปัจจุบันมีโรงเรียนที่รับซื้อผักจากร้านผักดีเพื่อปรุงประกอบอาหารกลางวันในโรงเรียนให้กับนักเรียน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนพระหฤทัย โรงเรียนจิตรา โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน โรงเรียนบ้านฟอน อ.หางดง และศูนย์เด็กเล็ก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลดวงแก้ว ต.หนองป่าครั่ง อ.เมืองเชียงใหม่ และโรงเรียนอนุบาลอินทิรา อ.แม่ริม โดยสำนักงานฯ ได้มุ่งขยายการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอาหารกลางวันปลอดสารพิษไปยังโรงเรียนนำร่อง จำนวน 37 แห่ง เพื่อให้มีการนำพืชผักอาหารปลอดภัยไปปรุงประกอบอาหารในโรงอาหาร ส่งเสริมการล้างผักที่ถูกวิธี การเฝ้าระวังสารเคมีปนเปื้อนในอาหารและพืชผักที่นำมาปรุงประกอบอาหาร การจัดหลักสูตรอาหารปลอดภัยเชื่อมร้อยกับกลุ่มสาระต่างๆ เนื่องจากได้มีการสำรวจโคลีนเอสเตอเรส(ตรวจสารเคมีตกค้างในร่างกาย) ในนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน พบว่า มีระดับโคลีนเอสเตอเรสอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 95 ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือปัญหาสุขภาพของเด็กนักเรียน โดยจากงานวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในรางกาย จะมีผลต่อสุขภาพด้านการพัฒนาของสมองและการสั่งการ และมีผลต่อโครโมโซม อาจแตกหัก ซึ่งจะมีผลต่อการเป็นมะเร็งในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายในที่สุด หากได้รับสารเคมีเหล่านี้เป็นระยะเวลานานแม้จะปริมาณน้อยก็ตาม

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน