วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ค่าจ้างแรงงานใหม่ 20 สาขาอาชีพ ประเภทมีฝีมือ…ครม.อนุมัติแล้ว!!!

05 เม.ย. 2016
292
Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

ค่าจ้างแรงงานใหม่20 สาขาอาชีพ ประเภทมีฝีมือ…ครม.อนุมัติแล้ว

 

             ท่านผู้อ่านครับ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามที่กระทรวงแรงงาน  เสนอ รวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขาอาชีพแล้วนะครับ

             เป็นข่าวดีมากครับ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามที่กระทรวงแรงงาน  เสนอ รวม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขาอาชีพ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้

กลุ่มอุตสาหกรรม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สาขาอาชีพ (1) พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 360 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 430 บาท

(2) พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 370 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 445 บาท

(3) ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท

(4) ช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

กลุ่มอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์

สาขาอาชีพ (5) ช่างกลึงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(6) ช่างเชื่อมมิก– แม็กสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(7) ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(8) ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

กลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์

สาขาอาชีพ (9) ช่างเทคนิคพ่นสีตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(10) ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(11) พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

(12) พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท

 

กลุ่มอุตสาหกรรม อัญมณี

สาขาอาชีพ (13) ช่างเจียระไนพลอย ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

(14) ช่างหล่อเครื่องประดับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

(15) ช่างตกแต่งเครื่องประดับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

(16) ช่างฝังอัญมณีบนเครื่องประดับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท

กลุ่มอุตสาหกรรม โลจิสติกส์

สาขาอาชีพ (17) นักบริหารขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 415 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท

(18) ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 360 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 430 บาท

(19) ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 350 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 420 บาท

(20) ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 340 บาท และระดับ 2 อัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท

การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะทำให้แรงงานไทยมีรายได้ที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้แรงงานไทยมีการพัฒนาฝีมือแรงงานและมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศนอกจากนี้ ยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ใน 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

รูปแบบที่ 2 การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต.

             และสดๆร้อนๆเลยครับ ส.อ.ท. เขาเผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 พบค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. มีอัตราเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากมีความต้องการในตลาดมากขึ้น คาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มจะสูงกว่าอัตราค่าจ้างวุฒิปริญญาตรี

โดยนายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด 110 แห่งใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า อัตราการจ่ายค่าจ้างขั้นต้นโดยเฉลี่ยของวุฒิ ปวช. อยู่ที่ 10,120 บาท ,ปวส. 11,383 บาท ปริญญาตรี 15,491 บาท ปริญญาโท  21,047 บาท และปริญญาเอก 35,985 บาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ อัตราค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ระหว่างปี  2558 กับปี 2557 จะพบว่า วุฒิปริญญาตรี มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 9.49% แต่ถ้าเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552 -2558) พบว่า วุฒิปวช.มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85%

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตที่ค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าวุฒิปริญญาตรี เนื่องจากความต้องการในตลาดแรงงานมีสูงกว่า รวมทั้งทิศทางของตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตจะเน้นรับคนเข้าทำงานโดยดูจากทักษะ และความสามารถมากกว่าที่จะดูเพียงแค่ใบปริญญา หรือระดับการศึกษา ทำให้ในอนาคต แรงงานที่จบการศึกษาจากปริญญาตรี อาจจะประสบปัญหาตกงานได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.04% ส่วนการจ่ายโบนัสประจำปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เดือน และมีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ บริษัทต่างๆเริ่มมีการปรับนโยบายจ่ายโบนัสตามผลงานมากขึ้น ส่วนอัตราการลาออกของพนักงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27% จากสาเหตุ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ เป็นอันดับหนึ่ง

…ขอขอบคุณข่าวจาก ไทยพีบีเอสนิวส์ออนไลน์

….อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ