วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

“คอป.”สรุปพฤษภาเลือด โยนผิดชายชุดดำชนวนยิง “ศอฉ.-นปช.”ผิดทั้งคู่

18 ก.ย. 2012
280
Spread the love

“คอป.”สรุปพฤษภาเลือด โยนผิดชายชุดดำชนวนยิง “ศอฉ.-นปช.”ผิดทั้งคู่ไม่ป้องเหตุรุนแรง

 

นายคณิตกล่าวว่ารายงาน คอป.มีเรื่องสำคัญคือข้อเสนอแนะหลายอย่าง ในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน นำหลักยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้ หลักธรรมภิบาล การเคารพสิทธิมนุษยชน การแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบัน บทบาทของสื่อ รัฐบาล และกองทัพ สิทธิการชุมนุมของผู้ชุมนม นอกจากนี้ คอป.ยังทำแนวทางการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คอป.ระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดความจริงมากที่สุด

ด้าน นายสมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 92 คน เป็นทหาร 8 คน ตำรวจ 2 คน ที่เหลือเป็นผู้ชุมนุม จาก 92 คน มีหลักฐานว่าเสียชีวิตเพราะชุดดำ 9 คน แยกเป็นหทาร 6 คน ตำรวจ 2 คน และประชาชนกลุ่มรักษ์สีลม1คน

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์เริ่มส่อเค้ารุนแรงตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2553 ที่สถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี รัฐพยายามจะระงับการออกอากาศ เจ้าหน้าที่นำอาวุธสงครามไปด้วย แต่เก็บอาวุธและกระสุนแยกกันไว้ในรถเสบียงแต่ผู้ชุมนุมยึดมาและแถลงต่อสื่อ ทำให้กลายเป็นประเด็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารเตรียมอาวุธปราบผู้ชุมนุม

ส่วนเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสูญเสียมากสุดคือ บริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นพลเรือน 21 คน รวมสื่อต่างประเทศ 1 คน ทหาร 5 คน บาดเจ็บรวมกว่า 864 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารกว่า 300 คน ที่สำคัญพบหลักฐานชายชุดดำคือ บุคคลที่ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัดใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังวันที่ 10 เมษายน 2553

โดยตรวจสอบกับกองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจพบการใช้ระเบิดเอ็ม 79 และปืนเล็กยาวยิงใส่เจ้าหน้าที่ด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย ส่วนที่ถนนดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกชายชุดดำโจมตี บริเวณถนนดินสอพบร่องรอยระเบิดเอ็ม 67 แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายบอกมีเอ็ม 79 ด้วย แต่ไม่พบร่องรอยกระสุนที่ยิงสวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสะพานวันชาติ โดยอาวุธระเบิดเอ็ม 67 คาดว่าน่าจะขว้างมาจากบ้านไม้โบราณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย

จากการตรวจสอบไม่พบ พ.อ.ร่มเกล้าถูกยิงด้วยกระสุนปืน แต่เสียชีวิตเพราะระเบิดเอ็ม 67 น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของคนชุดดำ ปฏิบัติการของชายชุดดำมีหลักฐานว่าได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช. 6 คน และบางคนใกล้ชิด พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และพบว่า เสธ.แดงปรากฏตัวบริเวณดังกล่าวในช่วงบ่ายทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์รุนแรง

ส่วนภาพที่เห็นเหมือนมีคนซุ่มอยู่บริเวณกองสลากฯจากตรวจสอบกับตำรวจด้วยการจำลองเหตุการณ์พบว่าเป็นเงาต้นปาล์มไม่ใช่พลซุ่มยิง

สำหรับเหตุการณ์รุนแรงบริเวณแยกสีลม มีการยิงมาจากพื้นที่ควบคุมของผู้ชุมนุมที่สำคัญคือ การเสียชีวิตของ เสธ.แดง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พบว่ามีการยิงจากอาคารสูงโดยรอบด้านขวา เช่น โรงแรมดุสิตธานี สีลมพลาซ่า และบางอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในช่วงนั้น ศอฉ.ได้อนุญาตและจัดให้มีพลแม่นปืนและซุ่มยิงประจำอาคารต่างๆ แล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์รุนแรงพัฒนาในขั้นการปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 13-18 พฤษภาคม 2553 โดยเกิดรุนแรงหลายพื้นที่ ช่วงนี้มีผู้เสียชีวิต 42 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุม นอกนั้นเป็นชาวบ้าน อาสาสมัครพยาบาล พบมีการปฏิบัติการคนชุดดำในบริเวณที่มีเหตุรุนแรง มีข้อน่าสังเกตคือมีกระสุนปืนกลหรือแม็กนั่ม ทำให้คนเสียชีวิตหลายราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีในการปฏิบัติการครั้งนี้

เหตุการณ์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ต้องการให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านโดยวิธีการของเจ้าหน้าที่คือ การเข้ากระชับพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยหวังว่าการกดดันจะทำให้ผู้ชุมนุมไปขึ้นรถที่สนามกีฬาแห่งชาติ แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น ทางราชดำริขึ้นไปแยกสารสิน มีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็น ทหาร 1 คน นักข่าวต่างประเทศ 1 คน ที่เหลือเป็นผู้ชุมนุม ครั้งนั้นทหารเสียชีวิตเพราะเอ็ม 79

สำหรับเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม ก่อนจะเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีเหตุการณ์ที่ทหารประจำการบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเล็งปืนและยิงไปที่วัดนั้น ได้มีการปะทะระหว่างทหารกับชายชุดดำที่พยายามเข้าไปอำนวยความสะดวกในการดับเพลิงที่โรงหนังสยาม จนชายชุดดำหนีมาแยกเฉลิมเผ่าจนพบมีการยิงโต้กันกับชายชุดดำใต้สกายวอล์กกับเจ้าหน้าที่บนรถไฟฟ้าสยามและมีพยานเห็นว่าชายชุดดำวิ่งเลียบกำแพงวัดปทุมวนารามไป

ส่วนที่มีการตั้งคำถามในวัดปทุมวนาราม มีการซ่องสุมชายชุดดำหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคนพบการ์ด นปช.อยู่ในวัด และพบอาวุธเอ็ม 16 ในวัด ซึ่งพบว่าเป็นกระบอกที่ผู้ชุมนุมยึดไปจากทหารเมื่อวันที่14พฤษภาคม2553

มีการแต่งกายของชายชุดดำจริงใช้อาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่อยู่ สิ่งนี้ต้องยอมรับ ประกอบกับการก่อวินาศกรรมทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุมหลายสิบจุด ขณะนี้ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ ยกเว้นคนยิงกระทรวงกลาโหม

ชายชุดดำที่มีอาวุธเหล่านี้หลายคนใกล้ชิดกับ เสธ.แดง และปฏิบัติการของชุดดำได้รับความร่วมมือจากการ์ด นปช.แต่จะใกล้ชิดผู้นำและแกนนำ นปช.หรือไม่ คอป.ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่หลายเหตุการณ์ชายชุดดำปฏิบัติการมาจากพื้นที่ควบคุม นปช. เช่น พระบรมรูป ร.6 และสวนลุมพินี และประตูน้ำ

คอป.คิดว่าแกนนำ นปช. ยังไม่ใช้ความพยายามอย่างเพียงพอในการป้องกันเหตุรุนแรง แถมสนับสนุนการกระทำชุดดำด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่รัฐจะใช้ทหารมาควบคุมฝูงชนหรือใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

ในส่วนของ ศอฉ.พบความบกพร่อง ไม่มีระบบตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ออกไปปฏิบัติการนอกจากได้รับรายงาน ไม่มีการประเมินผลว่าคำสั่งปฏิบัติการจะมีผลอย่างไรกับผู้ชุมนุม ผู้บริหารบางคนยังเข้าใจว่าใช้กระสุนซ้อม ทั้งที่มีการใช้กระสุนจริง การใช้อาวุธที่จะละเมิดต่อชีวิตจำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษเช่นการยิงผู้ที่ไม่มีอาวุธอาจทำให้บาดเจ็บล้มตายได้

เคยมีคำพิพากษาเหตุรุนแรงเมื่อปี 2552 ว่าการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ แม้จะถูกยั่วยุโจมตีแต่ถ้าได้ใช้อาวุธกับคนไม่มีอาวุธในมือ กองทัพต้องรับผิดชอบ มีการวางพลแม่นปืน แต่ไม่พบชายชุดดำยิงลงมาจากที่สูง ยกเว้นแค่กรณีโรงเรียนสตรีวิทยา สำหรับกระสุนที่ถูกเบิกไปใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้มากที่สุดคือ กระสุนปืนลูกซอง (เบอร์ 12) คิดเป็นร้อยละ 53 รองลงมาคือ กระสุนปืนเล็กยาว และกระสุนขนาด .308 เป็นต้น

ด้าน นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการ คอป.กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือ คอป.เรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง นอกจากนี้เห็นว่าการใช้กำลังทหารแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมักนำไปสู่ความขัดแย้ง คอป.จึงเห็นว่า รัฐต้องไม่ใช้กำลังทหารเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งของบ้านเมือง และการชุมนุมของประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะลักษณะของกองทัพไม่เหมาะที่จะควบคุมฝูงชน

ส่วนข้อเสนอแนวทางดำเนินการในระยะเปลี่ยนผ่าน คอป.เห็นควรให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกคนทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ เยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อที่รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มผู้ที่ถูกตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควร และไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนการสร้างสัญลักษณ์แห่งความทรงจำให้แก่สาธารณชนเพื่อเตือนใจ การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ และการนิรโทษกรรม ซึ่งต้องอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน