วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

คสช.รื้อเกณฑ์โยกย้ายตร.นับอาวุโสสกัดวิ่งเต้น

Spread the love

คสช.รื้อเกณฑ์โยกย้ายตร.นับอาวุโสสกัดวิ่งเต้น

 

คสช.รื้อเกณฑ์โยกย้ายตร.นับอาวุโสสกัดวิ่งเต้น ให้สิทธิเฉพาะรองผบ.ตร.-จเรตร.รับเลือกเป็นผบ.ตร.คนใหม่

                เมื่อค่ำวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 87/2557, 88/2557 และ 89/2557 แก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับตำรวจบางฉบับ และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสูง และการจัดลำดับอาวุโส

ทั้งนี้ ประกาศฉบับที่ 87 ระบุให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายและมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ในบางเรื่องได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของนายกฯ

ส่วนประกาศฉบับที่ 88 เป็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ (พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ) โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.รื้อโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยเพิ่มตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมเข้าไปเป็นกรรมการ ก.ต.ช. จากเดิมที่ไม่มีปลัดกระทรวงกลาโหม และตัดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกไป

2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ต.ช.จากเดิม 4 คน ให้เหลือ 2 คน และให้ผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา 3.ให้ ก.ต.ช.พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ตามที่ ผบ.ตร.เสนอ

4.แก้ไขมาตรา 53 (1) ว่าด้วยการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ให้ ผบ.ตร.เป็นผู้คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ และ รองผบ.ตร. แล้วเสนอ ก.ต.ช.พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ จากนั้นให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคับทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ทั้งนี้ จากเดิมกฎหมายกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกคนใดก็ได้ (รองผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ ที่ปรึกษา สบ10 และตำแหน่งเฉพาะตัวอื่นๆ เทียบเท่ารอง ผบ.ตร.) ฉะนั้นตามประกาศ คสช.ที่แก้ไขใหม่ ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ จะเหลือเพียง รองผบ.ตร. กับจเรตำรวจแห่งชาติเท่านั้น

5.รื้อโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

รื้อเกณฑ์นับอาวุโสสกัดวิ่งเต้น

ประกาศ คสช.ฉบับที่ 89 เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยมีการวางหลักเกณฑ์การนับอาวุโสใหม่ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล ดังนี้

1.ผู้มียศสูงกว่า (ไม่รวมถึงยศที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ) เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า 2.ยศเท่ากัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับนั้นนานกว่า เป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่า 3.ถ้าข้อ 2 เท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปนานกว่าตามลำดับจนถึงตำแหน่งระดับรองสารวัตร เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า 4.ถ้าดำรงตำแหน่งลำดับถัดลงไปนานเท่ากัน ให้ผู้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานกว่า อาวุโสสูงกว่า และ 5.ถ้าระยะเวลาดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรเท่ากัน ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่าเป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

ทั้งนี้ เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติยึดหลักเกณฑ์นับอาวุโสด้วยการพิจารณาว่าข้าราชการตำรวจคนใดขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับก่อนก็จะถือว่ามีอาวุโสสูงกว่า ทำให้เกิดการวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมือง เพื่อให้มีการแต่งตั้งนอกฤดู หรือแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ ช่วงชิงความได้เปรียบในการนับอาวุโส

 

 คสช.เผย2ช่องทางทูลเกล้าฯถวาย

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วยผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ว่า ตอนนี้มีการดำเนินการเสร็จแล้ว คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ น่าจะมีการประกาศใช้ สำหรับช่องทางในการทูลเกล้าฯ ถวายประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1.ช่องทางหลัก ที่ดำเนินการยื่นผ่านเอกสาร แล้วมีการประกาศใช้ หรือ 2.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงให้มีพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งทั้งสองช่องทางขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.จะตัดสินใจ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงการแก้ไขระบบกฎหมายภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า การแก้ไขกฎหมายทั้งหมด ทุกๆ เรื่องทุกประเด็นที่ล้าหลังไม่เข้ากับสภาพบริบทสังคมในปัจจุบัน คสช.จะนำมาแก้ไขให้เป็นระบบกฎหมายที่ทันสมัยมีความยุติธรรม จะเห็นว่า ที่ผ่านมา 7 เดือนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง มีกฎหมายที่อยู่ในชั้นสภาหรือกฎหมายที่รอการประกาศใช้ และกฎกระทรวงยังค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น คสช.จะเอามาแก้ไขดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ที่ผ่านมาก็ออกกฎหมายไปแล้วบางส่วน

สำหรับกฎหมายที่ออกไปนั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ออกโดย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผ่านคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช. 2.ออกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกระบวนการของกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมาก จึงทำให้ไม่สามารถออกเป็นประกาศ หรือคำสั่ง คสช.ได้ 3.ออกกฎหมายโดยกระบวนการสุดท้ายที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20140715/188236.html

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ