วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ความจริงคดีโรงพักทดแทน 5,848 ล้าน ทำไมศาลปกครองให้ชดใช้เงินเอกชน?

Spread the love

scoop1

 

ท่านผู้อ่านครับ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท พีซีดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) สืบเนื่องจากปัญหาโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน396 หลังทั่วประเทศ มูลค่าโครงการ 5,848 ล้านบาท

                คำพิพากษาของศาลปกครอง ที่สื่อมวลชนนำมารายงาน มีประเด็นน่าสนใจ ชวนให้กลับไปไตร่ตรองดูความผิดพลาดของโครงการนี้ว่าต้นสายปลายเหตุมันเกิดจากอะไร? ใครโกงหรือไม่? ทำไมก่อสร้างไม่เสร็จเราจึงนำเรื่องนี้มาให้ท่านได้รับทราบว่า ทำไมศาลปกครองจึงพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ  สตช.ชำระเงินค่าการงานในส่วนที่บริษัทเอกชนทำไว้ 96 ล้านบาท?

             ความรับรู้ของสังคมทั่วไป เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนออกมาเชิงลบรุนแรงกล่าวขานว่าเป็นโครงการทุจริตโกงกิน จ้างผู้รับเหมารายเดียว ทำให้ก่อสร้างไม่เสร็จ เพราะผู้รับเหมาทิ้งงานนักการเมืองผู้เกี่ยวข้องถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง แต่ฝ่ายตำรวจที่เป็นส่วนราชการผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการโดยตรง กลับไม่ได้ถูกเพ่งเล็งนัก ว่ามีส่วนทำให้เกิดความล่าช้า และล้มเหลวอย่างไรแต่คำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ สะท้อนความจริงอีกระดับที่น่าสนใจ

โครงการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช.ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนรายดังกล่าว ก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง เป็นเงิน 5,848 ล้านบาทซึ่งโครงการดังกล่าวอยุ่ในสมัย รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ แต่เนื่องจากโครงการล่าช้า  ไม่เสร็จตามสัญญา

              ต่อมา สตช.มีหนังสือ ลงวันที่ 18 เมษายน 2556 บอกเลิกสัญญาในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

             ฝ่ายเอกชนเห็นว่า เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เพราะ สตช.เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากไม่ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง หรือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบางแห่งล่าช้า อนุมัติผังบริเวณก่อสร้างและการอนุมัติผลการสำรวจลักษณะทางกายภาพของดิน เพื่อใช้กำหนดประเภทของฐานรากอาคารล่าช้า ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง หรือจ่ายค่าจ้างล่าช้าทำให้เอกชนขาดสภาพคล่อง แต่งตั้งผู้ควบคุมงานไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม ทั้งที่เอกชนมีหนังสือแจ้งเหตุและขอสงวนสิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนคู่สัญญา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ชดใช้ค่างวดงานก่อสร้าง ค่าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง และค่าเสียหายที่เกิดจากความล่าช้า รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการยื่นซองประมูลราคา และให้คืนหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาและหนังสือค้ำประกันการชำระเงินล่วงหน้า ให้งดการคิดค่าปรับตามสัญญากับเอกชน และห้ามขึ้นบัญชีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,054 ล้านบาท

ศาลปกครองเชียงใหม่ พิเคราะห์ว่า เมื่อเอกชนดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ไปแล้วจำนวน 335 หลัง แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาแม้แต่เพียงหลังเดียว และยังเหลือการก่อสร้างที่ยังไม่ดำเนินการอีกจำนวน 61 หลัง คิดเป็นงานก่อสร้างได้เพียงร้อยละ 12 ของงานทั้งหมด จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าเอกชนไม่สามารถทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ทาง สตช.จึงมีสิทธิตามสัญญา ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ที่จะบอกเลิกสัญญาและจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานแทนเอกชนรายเดิมได้

ส่วนการที่ฝ่ายเอกชนอ้างว่า สตช.เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างอาคารบางแห่ง หรือส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า หรือมีเหตุการณ์ประท้วงคัดค้านของประชาชนจนไม่สามารถก่อสร้างได้ หากมีจริงตามที่อ้าง ก็เป็นเพียงเหตุที่ทำให้เอกชนมีสิทธิที่จะขอขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา หรือมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าสินไหมทดแทนจาก สตช.เท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการบอกเลิกสัญญาของ สตช.

                ประเด็นนี้ พูดง่ายๆ คือ สตช.มีสิทธิโดยชอบที่จะบอกเลิกสัญญา!

                  แต่ศาลปกครองยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า สตช.เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่!

ศาลปกครองเชียงใหม่ พิเคราะห์ต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อ สตช.ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จึงต้องยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง คือ เอกชนกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยต้องชดใช้ค่าการงานในส่วนที่ทำ คือ ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 13 หลัง รวม 16 งวด เป็นเงิน 15,689,617 บาท และค่าการก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีทำไว้บางส่วน แต่ยังไม่ได้ส่งมอบงาน เป็นเงิน 81,280,816 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 96,970,433 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี

สำหรับค่าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายเอกชนอ้างว่าได้จัดเตรียมไว้ยังสถานที่ก่อสร้างนั้น เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดให้ สตช.รับผิดในค่าวัสดุดังกล่าว เอกชนจึงมีสิทธินำวัสดุกลับคืนไป และสตช.ก็ไม่ต้องชดใช้ค่าวัสดุที่เหลือนั้น

เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการปฏิบัติตามสัญญาต่อไป เมื่อเอกชนพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญา ฝ่ายสตช.จึงต้องคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามสัญญา ข้อ 3 วรรคสอง

สำหรับหนังสือค้ำประกัน (การชำระเงินล่วงหน้า) ของธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จำนวน 17 ฉบับ เป็นเงิน 877,200,000 บาทนั้น เมื่อได้หักเงินค่าจ้างล่วงหน้าไว้บางส่วนแล้ว เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่เหลือยังเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับจ้างจะได้รับ ฝ่ายเอกชนจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ สตช. เมื่อเอกชนยังไม่คืนเงินดังกล่าว สตช.จึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันของธนาคารออมสินไว้เป็นหลักประกันเพื่อให้เอกชนคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าจนครบจำนวนส่วนค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันนั้น เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติในการดำเนินงานที่เอกชนต้องจ่าย ไม่ว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ตาม เอกชนจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ สตช.รับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้

               สำหรับค่าปรับนั้น เมื่อ สตช.ยังมิได้คิดค่าปรับจากค่าจ้างและยังไม่มีการนำคดีมาฟ้องแย้ง เอกชนจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ต่อศาลปกครอง

คำขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ สตช.ขึ้นบัญชีเอกชนเป็นผู้ทิ้งงานนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งให้เอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน จึงยังไม่มีการกระทำหรือคำสั่งทางปกครองที่ทำให้เอกชนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ต่อศาลปกครอง

ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการยื่นซองประมูลราคาในการเข้าดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา ค่าธรรมเนียมออกหนังสือค้ำประกันการก่อสร้างตามสัญญา ฯลฯ เป็นค่าใช้จ่ายของเอกชนที่เกิดจากการเข้าทำสัญญากับทางราชการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีการเลิกสัญญานี้หรือไม่ จึงไม่ได้เป็นผลมาจากความล่าช้าของ สตช.หรือจากการบอกเลิกสัญญาที่ สตช.จะต้องรับผิด

ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ ก็เป็นผลมาจากการก่อสร้างล่าช้าของเอกชนเอง จนกระทั่งมีการบอกเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เอกชนจะมีสิทธิเรียกร้อง

พูดง่ายๆ ว่า ศาลปกครองได้พิเคราะห์ลงรายละเอียดทีละรายการ ตามที่เอกชนฟ้องเข้ามาเลยทีเดียว แต่ประเด็นที่ศาลเห็นว่า สตช.ต้องควักกระเป๋าชดใช้มีเพียงเรื่องเดียว คือ ค่าการงานและค่าการก่อสร้างในส่วนที่เอกชนทำไปแล้ว รวมประมาณ 96 ล้านบาท!

ในที่สุด ศาลปกครองจึงพิพากษาให้ สตช.ชำระเงินเป็นค่าก่อสร้างอาคารรวมเป็นเงิน 96,970,433 บาท และให้ สตช.คืนหนังสือค้ำประกัน ธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ 25 มีนาคม 2554 จำนวน 292,400,000 บาท ให้แก่เอกชนด้วย ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกทั้งหมด

            คำพิพากษาที่ออกมา มิได้หมายความว่าการดำเนินโครงการโรงพักทดแทนไม่มีความผิดเลย ไม่ใช่!

เป็นคนละประเด็นกับการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่ยังอยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.ในขณะนี้

คดีศาลปกครอง เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองในการบอกเลิกสัญญาเอกชน โดยศาลชี้ว่า สตช.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพียงแต่จะต้องชดใช้เงินบางส่วนแก่เอกชนเท่านั้นเอง

             คดีที่ศาลปกครองพิพากษาแล้วนี้ ไม่ได้ชี้ว่ามีใครโกง และไม่ได้ชี้ขาดว่า สตช.เองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้เกิดความล่าช้าด้วยหรือไม่ แต่ชี้ว่าที่ สตช.บอกเลิกสัญญานั้น ชอบแล้ว

             ประเด็นแตกต่างจากคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนอยู่

            าสุด ป.ป.ช.ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายสุเทพได้มาชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนของพล.ต.อ.ปทีป ยังไม่มีการชี้แจง เนื่องจากได้มีการขอขยายเวลา คาดว่าคณะอนุกรรมการ จะสามารถสรุปสำนวนเข้าที่ประชุมใหญ่ได้ในราวๆ ปลายเดือนตุลาคม

 

ขอขอบคุณที่มา ..สำนักข่าวอิศรา…………

 อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงและรายงาน