วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

คลังฯ เตรียมยกเลิกจ่ายเบี้ยคนรวย

Spread the love

คลังฯ เตรียมยกเลิกจ่ายเบี้ยคนรวย

มีรายได้เกินเดือนละ9พันพร้อมสินทรัพย์

แต่ยังแอบขอคนละ600บาท…….

scoop2

 

          ท่านผู้อ่านครับเรื่องเบี้ยยังชีพผู้ชราที่จ่ายกันมานานแล้ว ในอัตราคนละ500บาทต่อเดือน โดยระเบียบเก่า จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้ชราที่มีฐานะยากจนจริงๆ รัฐบาล ให้ ท้องถิ่นทำหน้าที่เสนอชื่อคนยากจนเพื่อรับเบี้ยยังชีพซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน ว่า ไม่ยุติธรรม เพราะคนยากจนจริงๆไม่ได้รับการเสนอชื่อ ผู้บริหารท้องถิ่นงุบงิบเสนอชื่อญาติพี่น้องของตนเองซึ่งฐานะไม่ยากจนจริงให้ได้รับเบี้ยยังชีพแต่ก็ไม่มีการแก้ไข หน้าด้านหน้าทนทำกันทุกแห่งหน ถูลู่ถูกังกันมานาน

       ต่อมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แก้ไขระเบียบ ให้ผู้ที่มีอายุครบ60ปี ทุกคน ที่คิดว่าตนเองมีฐานะยากจน ไปขึ้นทะเบียนเอง ขอรับเบี้ยยังชีพเอง โดยไม่ต้องผ่านการเสนอชื่อจากผู้บริหารท้องถิ่น.ในอัตราเดิม คือเดือนละ500 ซึ่งก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนชราที่มีอายุ60ปีมาก

จึงปรากฏว่า คนชราจำนวนมาก ที่มีฐานะดีพลอยได้รับอานิสงฆ์นี้ไปด้วยแห่กันไปขึ้นทะเบียน ทางการก็ไม่ตรวจสอบ ใครยื่นมาก็จ่ายทันทีคนพอมีอันจะกินก็ได้รับเบี้ยยังชีพเอาไปกินเหล้าเมายากันเป็นที่สนุกสนาน

       ครั้นถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สมัยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเกทับหนักเข้าไปอีก ด้วยการปรับเงินเบี้ยยังชีพจากเดิม ทุกคน คนละ 500บาทต่อเดือน เป็น ตามอายุ คือ อายุ60ก็ได้ 600 พอขึ้น 70ก็ปรับเป็น 700 และเพิ่มให้อีกเดือนละ100 เป็น 800 เมื่ออายุ80 เป็น900 เมื่ออายุ90 และหากใครอายุยืนขึ้นหลัก 100ปี จะได้รับเบี้ยเดือนละ 1,000

       จนกระทั่งจ่ายกันจนรัฐบาลกระเป๋าฉีกและสถานการณ์กระเป๋าฉีกกำลังจะลุกลามเป็นกระเป๋าแหก เมื่อคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น เพราะอยู่ดีกินดี การสาธารณสุขดี คนตายช้าลงรัฐบาลยุคนี้จึงต้องหาทางล้อมคอกก่อนวัวหาย ลองไปฟังดูวิธีการณ์ครับ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังทบทวนนโยบายการจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 600 บาทต่อเดือนใหม่ โดยจะมีการยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาทหรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท

           และเลือกจ่ายให้เฉพาะผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำ หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือจริงเท่านั้นเพื่อลดภาระงบประมาณเพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ประหยัดงบได้อีกปีละ 1 หมื่นล้าน

คุณวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า จากเดิมใครมีอายุเกิน 60 ปี ก็มาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ แต่ต่อไปจะมีการช่วยเหลือบางคนที่มีรายได้ต่ำ ประเมินว่านโยบายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่นี้จะช่วยรัฐประหยัดงบได้ปีละ1 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันที่เป็นภาระงบประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะทำการเก็บข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยและเชื่อมโยงกับนโยบายพัฒนาการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนท์ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนตั้งแต่กลางปีนี้

ท่านรัฐมนตรีคลังกล่าวสรุป อีกว่า ปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า มีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน แต่ต่อไปประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งในปี 2573 คาดว่าทุกประชากร 5 คน มีผู้สูงอายุ 1 คนและคนในวัยทำงานที่สร้างรายได้จะเหลือน้อยลง ที่สำคัญคนไทยยังทำประกันภัยกันน้อยประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่ทุกคนจะมีการทำประกันอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 กรมธรรม์ ส่งผลให้ต่อไปภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงวัยจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

                 นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงินให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้เงินในยามเกษียณซึ่งจะเหมาะกับคนไม่มีลูกหลานเรื่องนี้คงจะชัดเจนในเร็วๆนี้

                  ต้องติดตามกันต่อไปครับ แต่ที่แน่นอน สิ้นเดือนนี้ ยังคงจ่ายกันตามปกติ และน่าจะได้ไปจนสิ้นปีงบประมาณ วันที่30 กันยายน 2559  ยังเมากันได้อีกหลายเดือน

 

ขอขอบคุณข่าว จาก เดลินิวส์ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS  เจาะข่าว  ตรงใจคุณ