วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

คนไข้เฮ รพ.นครพิงค์ ตรวจแล้วไม่ต้องรอไปรษณีย์ส่งยาถึงบ้าน สธ.นำร่อง 19 แห่ง

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

 

คนไข้เฮ รพ.นครพิงค์ ตรวจแล้วไม่ต้องรอไปรษณีย์ส่งยาถึงบ้าน  สธ.นำร่อง 19 แห่ง      

          ท่านผู้อ่านครับ มีข่าวน่าสนใจมาฝากกันครับ มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2560  นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ” ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข  กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ครับ

          เป็นข่าวแปลก แต่สร้างสรรค์ เราจึงไปติดตามข่าวนี้มารายงานท่านครับ

          จากข่าว ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน แถลงว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัด สธ.(รงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลในสังกัดอื่นไม่เกี่ยวนะครับ) มีจำนวนสูงถึง 187,632,580 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

         ส่งผลถึงความแออัด มีระยะเวลาการรอคอยในการรับยา การชำระค่าบริการ ปัญหาการจราจร ไม่มีที่จอดรถ  

           ดังนั้น สธ. จึงพยายามพัฒนาระบบบริการ และได้พัฒนาระบบคุณภาพในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ด้วยบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านรวดเร็วและสะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางมารับยา ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระการสำรองยาคงคลังของโรงพยาบาล และลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมคุณภาพของยาได้

“สธ. จึงร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ ที่จะช่วยให้ยาไปถึงมือผู้ป่วยโดยเร็ว มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ด้วยบริการจัดส่งที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ GSP (Good Storage Practice) และ GDP (Good Distribution Practice) จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ และเป็นบริการโดยความสมัครใจของผู้ป่วยหรือญาติคือ มาตรวจแล้วกลับบ้านเลยไปรอยาที่บ้าน  อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง และ สธ.มีบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาโรงพยาบาลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การพัฒนาดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายดังนี้ 1. ลดปริมาณผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 2. ลดปริมาณยาและเวชภัณฑ์คงคลังของโรงพยาบาล 3. ลดการสูญเสียยาและเวชภัณฑ์จากการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานหรือทิ้ง 4. ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้ป่วยทุกสิทธิ์ 5. ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของโรงพยาบาลในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ และ 6. เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในภาพรวม

          ในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง คือ รพ.บุรีรัมย์  รพ.สงขลา รพ.สุรินทร์ รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ศรีสะเกษ รพ.กาฬสินธุ์ รพ.แพร่ รพ.นครพิงค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงพยาบาลป่าแงะ จังหวัดเชียงใหม่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ขอนแก่น รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ลำปาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.พุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก รพ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  รพ.อุดรธานี รพ.มหาสารคราม และ รพ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลที่เหลือต่อไป

สำหรับทางด้านไปรษณีย์ไทย ดร.ฐิติพงศ์  นันทาภิวัฒน์  กล่าวว่า การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ทางบริษัทได้มีการจัดรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิคอยให้บริการอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่า ยาจะได้รับความเสียหาย ส่วนระยะเวลาในการจัดส่งเป็นไปตามที่มีการกำหนด กรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม หากไม่เกิน 70 เซนติเมตร ก็ยังสามารถจัดส่งได้ หากน้ำท่วมสูงเกินกว่านี้หรือมีอุปสรรคอื่นๆ ก็ได้ประสานกองทัพ เพื่อช่วยลำเลียงทั้งทางเรือ และทางอากาศด้วย และขณะนี้อยู่การปรับปรุงกล่องบรรจุภัณฑ์ในการจัดส่งยาให้มีความแตกต่างจากกล่องพัสดุทั่วไปด้วย

            วิธีการนั้นดีแน่ครับ แต่การปฏิบัติให้ดี สร้างความพึงพอใจของประชาชนเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ต้องอดใจรอผลต่อไปสักระยะหนึ่ง ครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไปรษณีย์ไทย

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

 CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ