วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

คณะแพทย์ มช. แนะวิธีการใช้ยาอย่างปลอดภัย

Spread the love

     คณะแพทย์  มช.

แนะวิธีการใช้ยาอย่างปลอดภัย

เนื่องด้วยคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   จะได้จัดงานสัปดาห์เภสัชกรรม  ประจำปี 2556   ซึ่งสัปดาห์เภสัชกรรมเป็นกิจกรรมที่สภาเภสัชกรรมและองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของเภสัชกรต่อสังคม  ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และการใช้ยาได้อย่างถูกต้องปลอดภัย   โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี  ที่ 18 กรกฎาคม 2556 เวลา 08.30 น.  ณ โถงชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี  คณะแพทยศาสตร์    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ภญ.นงเยาว์   มัทนพันธ์ หัวหน้างานคลังเวชภัณฑ์และเภสัชสนเทศโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่   เปิดเผยว่า  ปัจจุบันพบปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อในการใช้ยาที่ผิดๆ  อาทิ  เมื่อหายจากอาการป่วยก็หยุดยาเลยในทันที                ซึ่งจริงๆ   แล้วยาบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฎิชีวนะหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายาฆ่าเชื้อเป็นยาที่ต้องรับประทานจนหมดตามจำนวนวันที่แพทย์สั่ง  หรือการรับประทานยาชุดมียาหลายๆเม็ดรับประทานพร้อมกันในครั้งเดียวผู้ป่วยบางรายอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีจะได้หายจากอาการป่วยเร็วๆ  แต่นั้นอาจกลับทำให้เกิดอันตรายจากยาได้  เพราะอาจได้รับยาบางชนิดร่วมด้วยโดยไม่จำเป็น  เป็นผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้น  หรือหากใช้ยาบางชนิดในระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายจากอาการข้างเคียงในระยะยาวของยาได้   ซึ่งหลักง่ายๆ  ในการใช้ยาอย่างที่ถูกต้องอาศัยหลัก  5 ความถูกต้อง  ได้แก่1.ถูกคน  ผู้ใช้ยาคนนั้นเป็นใคร  เป็นเด็ก  ผู้ใหญ่  ผู้สูงอายุ  มีโรคประจำตัวหรือไหม   อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรหรือไหม หรือมีประวัติแพ้ยาหรืออาการข้างเคียงจากยามาก่อนหรือไม่  เป็นคำถามที่ผู้ป่วยทุกท่านต้องถูกถามจากเภสัชกรผู้จ่ายยา  เพราะยาที่ใช้จะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ  ผู้ป่วยรายอื่นที่เจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกันอาจจะเหมาะกับยาต่างชนิดกัน  ดังนั้นจึงไม่ควรนำยาของผู้อื่นมารับประทาน

2.ถูกยา  จะรู้ว่ายาที่ใช้นั้นถูกต้องหรือไม่  ก็ต้องรู้ว่าเป็นโรคอะไรจากการได้รับการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญ  ไม่ควรวินิจฉัยอาการเองแล้วไปซื้อยาเองเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับยาที่ไม่ตรงกับโรคที่เป็น

3.ถูกขนาด  ควรใช้ยาในขนาดตามที่แพทย์สั่งไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดขนาดยา  หรือหยุดยาเอง  เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายจากยาเนื่องจากขนาดยาสูงเกินไป  หรือการรักษาไม่ได้ผลหากขนาดยาต่ำกว่าขนาดยาที่รักษา

4.ถูกเวลา  จะมียาที่รับประทานก่อนอาหารซึ่งรับประทานตอนท้องว่างก่อนอาหาร  ครึ่ง-1 ชั่วโมง  ในขณะที่ยารับประทานหลังอาหารทั่วๆ  ไปเป็นยาที่อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยาจะรับประทานหลังอาหารทันที  หรือหลังอาหารสักพักหนึ่งก็ได้ยกเว้นยาหลังอาหารที่ฉลากระบุว่ารับประทานยาหลังอาหารทันที  ยาพวกนี้จะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารได้จึงต้องรับประทานหลังอาหารทันที

5.ถูกวิถีทาง  ตรวจสอบว่ายาที่ได้รับเป็นยาชนิดรับประทาน  ยาใช้ภายนอก  หรือยาฉีด  และจะมียาบางชนิดที่จะมีวิธีการใช้พิเศษที่แตกต่างจากยาทั่วไปเช่น  ยาหยอดตา  ยาพ่นรักษาโรคหอบหืด  ยาฉีดอินซูลิน  ฯลฯ  ซึ่งเภสัชกรผู้ที่จ่ายยาหรือบางครั้งแพทย์ผู้สั่งยาเองจะเป็นผู้อธิบายวิธีการใช้ยา  ผู้ป่วยควรรับฟังและทำความเข้าใจอย่างละเอียดเพื่อจะใช้ยาได้อย่างถูกต้อง

โดยวิธีแนะนำง่ายๆเพื่อป้องกันการรับประทานยาผิด คือควรมีสมุดประจำตัวบันทึกยาที่ใช้ระบุวันที่ผู้ป่วยไปตรวจ  เขียนรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับทั้งหมดในวันนั้น  โดยอาจทำเครื่องหมายพิเศษเตือนตัวเองหากมีการปรับขนาดยาในครั้งนั้นจะช่วยเตือนว่าเราต้องรับประทานยาต่างจากครั้งก่อน  ในส่วนปัญหายาเหลือใช้นั้นหากเป็นยาที่ยังใช้อยู่อาจนับจำนวนยาที่มีแจ้งให้แพทย์ทราบหรือยาที่เหลือมาให้แพทย์หรือเภสัชกรดูในนัดครั้งต่อไป  หากเป็นยาที่หยุดใช้แล้วสามารถนำมาบริจาคที่โรงพยาบาลได้และหากไม่แน่ใจว่ายาหมดอายุ  สามารถปรึกษาเภสัชกรได้  ซึ่งวิธีสังเกตวันหมดอายุสามารถสังเกตวันหมดอายุจะอยู่ที่ฉลากยาที่ภาชนะบรรจุเช่นที่ฝากล่องยา  หรือใต้ขวดยา  สังเกตจากตัวย่อ  EXP  ย่อมาจาก  Expiration   Date  บางครั้งยาบางชนิดจะระบุวันหมดอายุแค่เดือนและปี  ให้ถือว่ายาหมดอายุสิ้นเดือนนั้น  เช่น  กำหนดยาหมดอายุ  07/2013  หมายถึงยาหมดอายุวันที่  31  กรกฎาคม ปีค.ศ.2013            ซึ่งวิธีสังเกตยาเสื่อมสภาพ  คือลักษณะทางกายภาพของยาเปลี่ยนไป

ยาเม็ด  เม็ดยาจะแตกร่วน  สีซีด  หรือเปลี่ยนสี  ถ้าเป็นยาเม็ดเคลือบน้ำตาล  เม็ดยาจะเยิ้มเหนียวเป็นรอยด่างหรือแตกกร่อน  ยาบางชนิดเมื่อเสียจะมีกลิ่นหรือลักษณะที่เปลี่ยนไป

ยาแคปซูล  แคปซูลจะบวม  พองออก  หรือจับกัน  ผงยาในแคปซูลเปลี่ยนสี

ยาแขวนตะกอน  เช่น  ยาลดกรด  ยาแก้ท้องเสีย  ตะกอนจะจับกันเป็นก้อนแข็ง  เขย่าแรงๆก็ไม่กระจายตัว  หรือสีกลิ่น รสเปลี่ยนไปจากเดิม

ยาน้ำเชื่อม  ยาจะขุ่นมีตะกอน  สีเปลี่ยน มีกลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว

ยาขี้ผึ้ง  มีการแยกตัว  แข็งเกินไปจนบีบไม่ออก  หรือสีของยาเปลี่ยนไปมีจุดด่างดำเกิดขึ้น

 “ปัญหาเรื่องยาใครว่าเรื่องเล็ก  รู้เอาไว้ใช้อย่างระมัดระวัง”  ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการการให้ความรู้ด้านยา  การเสวนาปัญหาเกี่ยวกับยา  การแนะนำปรึกษาเรื่องยาโดยเภสัชกรและการเล่นเกมส์ต่างๆอีกมายมาย 

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ