วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

คณะกรรมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตลำไยตกต่ำ

Spread the love

คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตลำไยตกต่ำ

cnx

คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่อนุมัติให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการเอกชนจำนวน  ๗๑  แห่ง  เข้าร่วมมาตรการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิตและมาตรการแปรรูปผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่

นางอุบลรัตน์ คงกระพันธ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากนายชาตรี  บุนนาค  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๖ ว่า  บ่ายวานนี้(๔ ส.ค.๒๕๕๗) คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตลำไยตกต่ำ

โดยมีการพิจารณาใน ๒ ประเด็นหลัก คือ การพิจารณาอนุมัติผู้สมัครและเป้าหมาย พร้อมทั้งวงเงินกู้ผู้เข้าร่วมมาตรการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิตและมาตรการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตลำไย ซึ่งแบ่งเป็น  ๒ ส่วน คือ

ส่วนแรกเป็นการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต ซึ่งมีผู้สมัครจำนวน  ๒๙ กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ๒๕ กลุ่มและสหกรณ์การเกษตร ๔ แห่ง และผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการแปรรูปผลผลิตลำไย มีผู้สมัครเข้าร่วม ๔๒ กลุ่ม แบ่งเป็นการแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ๓๘ กลุ่ม มีวิสาหกิจชุมชน ๒๔ กลุ่มสหกรณ์การเกษตร ๑ แห่งและผู้ประกอบการเอกชน  ๑๓ ราย   ส่วนการแปรรูปลำไยอบแห้งสีทอง  มีวิสาหกิจชุมชน  ๓ กลุ่มและผู้ประกอบการเอกชน ๑ ราย

สำหรับส่วนที่ ๒  เป็นการอนุมัติเป้าหมายตามมาตรการกระจายผลผลิตลำไย ออกนอกแหล่งผลิตรวม ๕,๐๐๐ ตัน  ปรากฎว่าผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการทั้ง ๒๙ กลุ่ม ได้ส่งเป้าหมายการกระจายผลผลิตรวม  ๑๒,๐๓๙  ตัน  ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้  ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่  ชี้แจงให้ผู้สมัครรับทราบและปรับยอดให้เท่ากับเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะได้มีการดำเนินการประชุมต่อไป ส่วนการพิจารณาวงเงินกู้ของผู้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการแปรรูปลำไยโดยการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ ๓ นั้น  แบ่งเป็น การแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก กำหนดวงเงินกู้ไว้ที่ ๔๐๐ ล้านบาท ปรากฎว่าผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการทั้ง ๓๘ กลุ่ม มีวงเงินกู้รวม ๓๓๙.๓ ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ควรมีการปรับวงเงินกู้ให้เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม

โดยพิจารณาวงเงินกู้ให้ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน ๓ ล้านบาท และสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด พิจารณาอนุมัติให้วงเงินกู้จำนวน  ๒๐ ล้านบาท ส่วนการแปรรูปลำไยอบแห้งสีทองกำหนดวงเงินกู้ไว้ที่  ๔๐  ล้านบาท  ผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการรวม  ๔ กลุ่ม วงเงินกู้รวม  ๑๑.๓ ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากำหนดวงเงินกู้ตามที่ผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการเสนอขอ และมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงผู้เข้าร่วมโครงการต่อไป สำหรับการพิจารณาประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ข้อเรียกร้องของสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่และสมาคมชาวสวนลำไยไทยทั้ง ๒ ข้อ คือ ข้อเรียกร้องที่ ๑ ให้ภาครัฐกำหนดราคากลางรับซื้อลำไยสดร่วงที่  เกรด AA  กิโลกรัมละ ๒๐ บาท  เกรด A  กิโลกรัมละ ๑๕  บาท  เกรด B กิโลกรัมละ ๑๐ บาทและเกรด C กิโลกรัมละ ๓ บาท

ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ ๑๒ บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ  และข้อเรียกร้องที่ ๒ คือ ให้ภาครัฐชดเชยค่าส่วนต่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้กำหนดราคามาตรฐานกลางที่กิโลกรัมละ ๑๔.๓๙ บาท ให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการภาครัฐดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยในข้อเรียกร้องที่ ๑ นั้น เห็นว่าอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะพิจารณาประกาศหรือไม่ อย่างไรต่อไป และสำหรับข้อเรียกร้องที่ ๒ เรื่องการชดเชยค่าส่วนต่างราคา      รับซื้อลำไยนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการดำเนินการและความเป็นไปได้ตามข้อเรียกร้องต่อไป

CNX NEWS รายงาน