วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

ขยายเวลาการเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

Spread the love

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ขยายเวลาการเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ขยายเวลาการเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยไม่หยุดพักกลางวันทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ยกเว้นช่วงที่มีการเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม  ระหว่างวันที่ 4 – 10 ธันวาคม 2556 และ 25 ธันวาคม 2556 – 15 มกราคม 2557

นายอำนาจ  เดชะ ผู้อำนวยการพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เปิดเผยว่า สำนักพระราชวัง ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้เปิดพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักได้ทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ (ยกเว้นเฉพาะช่วงที่มีการเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม) ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมานั้น ซึ่งในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว  มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ทางพระตำหนัก   ภูพิงคราชนิเวศน์จึงได้ขายเวลาการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม โดยไม่หยุดพักกลางวัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 4 – 10 ธันวาคม 2556 ส่วนช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 – 15 มกราคม 2557 ดังนั้น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในห้วงเวลาดังกล่าว

พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373.197 เมตร ในเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ 400 ไร่ นั้น แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมประมาณ 200 ไร่ ซึ่งคำว่า “ดอยบวกห้า” มีความหมายคือ ที่ยอดดอยแห่งนี้มี หนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้าขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปีพ.ศ. 2504 และพระราชทานนาม พระตำหนักองค์นี้ว่า ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยพระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่าง ๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ออกแบบรูปด้าน โดยหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี และนายประดิษฐ์ ยุวพุกกะ จากกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเป็นผู้ช่วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการวางศิลาฤกษ์พระตำหนักเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เวลา 10 นาฬิกา 49 นาที การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือนจึงแล้วเสร็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบตกแต่งภายในพระตำหนักทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนที่ใช้รับรองพระราชอาคันตุกะทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น และได้ใช้พระตำหนักในการรับรองพระราชอาคันตุกะเป็นครั้งแรกคือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 หลังจากนั้นก็มีประมุขของประเทศต่าง ๆ เป็นพระราชอาคันตุกะมาประทับและ     พักแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ฯ ในเวลาต่อมาอีกหลายประเทศ อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียน่า และเจ้าชาย     เบอร์ฮาร์ท จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่า แห่งประเทศเบลเยี่ยม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตัวอาคารอื่น ๆ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน