วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนภาคเหนือตอนบน 1

29 ม.ค. 2013
249
Spread the love

การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนภาคเหนือตอนบน 1

สู่การเป็นNorthernCosmeticValley

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เดิมคือ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม) ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทด้านเครื่องสำอางในการพัฒนาเกษตรสร้างสรรค์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางขึ้น มีเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตด้านเกษตรสร้างสรรค์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางภาคเหนือNorthernCosmeticValleyในระยะเวลา 4 ปี  โดยมีพืชสมุนไพรนำร่องที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางธรรมชาติและอินทรีย์ เช่น น้ำผึ้งลำไยข้าวก่ำ และ ลำไย เป็นต้น

การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวมีการประชุมระดมความคิดเห็นหลายครั้งระหว่างผู้ประกอบการด้านธุรกิจเครื่องสำอางทั้งจากในประเทศและต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เข้มแข็ง และกำหนดแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อน ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

ดร.ณรงค์ คองประเสริฐ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “เมื่อโครงการนี้สำเร็จ จากเดิมที่ต่างชาติจะมาซื้อสมุนไพรดิบจากสวนกิโลกรัมละบาท ถ้าเราสามารถผลิตส่วนผสมสารตั้งต้นเครื่องสำอางเองได้ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น กิโลกรัมละแสนบาท”

ในแผนแม่บทนี้ กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไว้คือ การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ผลิตส่วนผสมสารตั้งต้นเครื่องสำอางและผู้ประกอบการธุรกิจสปาให้มีความเข้มแข็งภายใน 1 ปี การยกระดับสมุนไพรธรรมชาติท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางธรรมชาติและอินทรีย์ด้วยนวัตกรรมภายใน 2-3ปี และการยกระดับโครงสร้างสนับสนุนธุรกิจและนวัตกรรมเครื่องสำอางธรรมชาติและอินทรีย์เพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนภายใน 4 ปี โดยผลลัพธ์ที่ได้คือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่า ทั้งผู้ประกอบการในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จากการเข้าสู่การเป็นNorthernCosmeticValley

กิจกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อนในปีแรกนั้น จัดการประชุมเพื่อสร้างและพัฒนาความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายในเครือข่าย ทั้งด้านความปลอดภัยและด้านการตลาด การสำรวจจัดทำฐานข้อมูลทั้ง แหล่งปลูก ผู้แปรรูปวัตถุดิบ ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ผู้จำหน่าย นักวิจัย แหล่งทุนสนับสนุน ข้อมูลความต้องการ สิทธิบัตรและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่พร้อมถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้มีความแข็งแรง

กิจกรรมถัดมาคือการบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากโครงการนำร่อง พร้อมทั้งมีการสร้างแผนนวัตกรรม แผนการตลาด แผนธุรกิจ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางปลอดภัยอีกด้วย พร้อมจัดทำเว็บไซด์เผยแพร่และเป็นสื่อกลางข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในภาคเหนือตอนบน 1 การสำรวจจัดทำฐานข้อมูล แหล่งปลูก ผู้แปรรูปวัตถุดิบ ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ผู้จำหน่าย นักวิจัย แหล่งทุนสนับสนุน ข้อมูลความต้องการ สิทธิบัตรเครื่องสำอาง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้จากโครงการบ่มเพาะ มีกิจกรรมการพาผู้ประกอบการไปร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องสำอางภายในประเทศ และจัดทำสื่อประชา สัมพันธ์เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการตลาดให้กับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย

เมื่อมีการสร้างผลิตภัณฑ์นำร่องออกในปีแรกแล้ว กิจกรรมในปีถัดมาจะเน้นไปที่การผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น ด้วยการพัฒนาสถานที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 การเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจท่องเที่ยวโดยการสร้างประสบการณ์การใช้เครื่องสำอางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ดังเช่นการท่องเที่ยวของเกาหลีที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้ลองผลิตภัณฑ์โสมที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาแล้ว

ทางหน่วยงานภาครัฐยังมีแผนช่วยผลักดันให้มีการรณรงค์การใช้เครื่องสำอางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน1 อีกด้วยนอกจากจะเน้นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งในด้านการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการตลาดให้เข้าสู่การเป็นเครื่องสำอางรองรับมาตรฐานสำหรับ AEC อีกด้วย มีการส่งเสริมการผลิตเครื่องสำอางจากเกษตรอินทรีย์ให้มีปริมาณมากขึ้น

มีการเสนอโครงการสร้างโรงงานต้นแบบในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้มาตรฐานในการผลิตเครื่องสำอางและตรวจสอบมาตรฐานเครื่องสำอาง เพื่อรองรับการผลิตตามความต้องการของผู้ประกอบการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทดสอบการผลิตได้ในปริมาณพอเหมาะต่อการทดสอบด้านการตลาด มีการขายสารตั้งต้นที่มีอัตลักษณ์ล้านนานี้ในปริมาณไม่สูงให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสปาเพื่อนำไปใช้ในการผลิตภัณฑ์ด้านสปาที่มีสูตรเป็นของตนเองแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางด้านล้านนา

ในระยะยาวจะมีการยกระดับโครงสร้างสนับสนุนธุรกิจ การสร้างความเข้มแข็ง และ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ และ ระดับนานาชาติด้วยกลไก การมีห้องปฏิบัติการกลางสำหรับธุรกิจเครื่องสำอาง โดยเฉพาะด้านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิศักย์ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลุ่มภาคเหนือตอนบนการให้คำปรึกษาด้านการผลิตออกแบบบรรจุภัณฑ์การเงินการตลาดการบริหารจัดการ การเพิ่มจำนวนหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเครื่องสำอางการสร้างแบรนด์ในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการมีแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่จะเติบโตในอนาคต เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางภาคเหนือตอนบน 1.

 

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน