วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

กลุ่มเกษตรกรนัดรวมตัวเพื่อชี้แจงความคืบหน้ากองทุนฟื้นฟู

Spread the love

                    กลุ่มเกษตรกรร่วม 1,500 คน นัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร(กฟก.)

กลุ่มเกษตรกร จาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ประมาณ 1,500 คน นัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนแก่สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร(กฟก.)

วันนี้ (4 พ.ย.56) เวลา 08.00 น. กลุ่มเกษตรกร ประมาณ 1,500 จาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน พิจิตร เพชรบูรณ์ และ กำแพงเพชร ประมาณ 1,500 คน นัดรวมกันที่บริเวณหน้า    ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนฟื้นที่และพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ได้รับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์   ณ ระนอง) ประธานกรรมการ เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

2. เห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 18 เดือนนับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ โดยใช้จ่ายจากเงินโครงการที่คงเหลือในบัญชีสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นเงิน 945,392,710 บาท และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการขยายระยะเวลาโครงการแล้ว หากมีเงินเหลือให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนำไปดำเนินงานตามกฎหมายต่อไป

3. อนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 37/9 วรรคท้าย และการจัดการหนี้ของเกษตรกร ตามมาตรา 37/9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 พร้อมค่าใช้จ่ายดำเนินงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

4. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดกลไกการตรวจสอบและติดตามการนำงบประมาณที่ได้รับอนุมัติดังกล่าวไปใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และควรมีการประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่องด้วย

นายวโรภัทร แสงจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556  เพื่อนำใช้ชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 945 ล้านบาทเศษ และอีก 1,300 ล้านนำมาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจำนวน 500 ล้านจะเป็นการนำไปฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ส่วนอีก 600 ล้านนำไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมแทนเกษตรกรผู้มีสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553  โดยการชำระต้นเงินร้อยละ 50 ของต้นเงินหนี้ทั้งหมด โดยลดต้นเงินที่เหลือและดอกเบี้ยทั้งหมด ถือเป็นการชำระหนี้เสร็จสิ้นจาก ธกส. จากนั้น เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูจะชำระหนี้กับกองทุน ฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ชำระให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 20 ปี สำหรับเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งก็จะชำระหนี้โดยตรงให้แก่เจ้าหนี้เดิมก็ได้เช่นกัน

 

สำหรับการนัดรวมตัวของเกษตรกรในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีในการชี้แจงให้เกษตรกรที่ไม่ทราบผลประโยชน์ของสมาชิกที่จะได้รับจากกองทุนซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ได้รับทราบและดำเนินการใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้กองทุนฟื้นฟูฯ ในพื้นที่และส่วนกลาง    มีการประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ในขณะนี้มีจำนวนประมาณ 22,000 ราย ส่วนเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ยังสามารถยื่นขอใช้สิทธิได้ คือ ต้องเป็นเกษตรกรที่      ขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีหนี้สินไม่เกิน 2,500,000 บาท และเป็นหนี้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งเบื้องต้นกำหนดชุมนุมเป็นเวลา 3 วัน โดยวันแรกเป็นการเปิดเวทีชี้แจงความก้าวหน้าของการดำเนินงานกองทุน ส่วนวันที่ 2 และ 3 จะเป็นการรับแจ้งความจำนงตามแบบฟอร์มให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้ชำระหนี้แทนเกษตรกร

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน