วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

กลุ่มรัฐอิสลาม(ไอเอสเอส)กับปรากฏการณ์ช๊อกโลก

Spread the love

กลุ่มรัฐอิสลาม(ไอเอสเอส)กับปรากฏการณ์ช๊อกโลก

Still image from undated video of a masked Islamic State militant holding a knife speaking next to man purported to be James Foley at an unknown location

หอกข้างแคร่โลกเสรี  เจ็บๆ คันๆกันต่อไป

             ใครที่ติดตามข่าวสารและสนใจในข่าวต่างประเทศ คงไม่เว้นที่จะติดตามข่าวของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอสเอส) ซึ่งเปิดตัวออกมาแต่กลางปีที่แล้ว ด้วยยุทธการคล้ายคลึงกับ กลุ่ม ตาลีบัน ในอาฟกานิสสถาน ซึ่งเคยยึดครองอาฟกานิสสถานอยู่ขณะหนึ่ง   เมื่อ10กว่าปีที่ผ่านมา  และประกาศใช้กฎระเบียบเคร่งครัดของศาสนาอิสลามปกครองราษฎร จนกระทั่งสหะรัฐใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามตาลีบัน ยึดอำนาจกลับคืนสู่อาฟกานิสสถาน เปิดให้มีการเลือกตั้งและปัจจุบันอาฟกานิสสถานปกครองในระบอบประชาธิปไตย

             ตาลีบัน ประกาศตนเป็นผู้เคร่งศาสนา ไม่ได้มุ่งทำสงครามกับใครแต่เนื่องจากโลกเสรีพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม อัลกอลิดะห์ ของนาย   อุสมา บินลาดิน ผู้ก่อการร้ายตัวพ่อของโลก ดังนั้น ตาลีบันจึงถูกทำลาย การใช้กฎหมายอิสลามเคร่งครัดกับพลเมืองอาฟกานิสสถานทำให้โลกเสรีมองว่าป่าเถื่อน แต่กลุ่มไอเอสเอสกับสร้างปรากฏการณ์ช๊อกโลกด้วยความป่าเถื่อนยิ่งกว่า

             วันนี้เราจะลองติดตาม ไอเอสเอส กัน

        จากรายงานของต่างประเทศ ล่าสุด  กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส  (บางสำนักเรียก ไอเอสเอส บ้าง ไอซิส บ้าง)   เผยแพร่วีดิโอ เมื่อวันอาทิตย์ที่15 ก.พ. อ้างว่าเป็นการฆ่าตัดคอคนงานชาวอียิปต์ 21 ราย ที่ชายหาดแห่งหนึ่งในลิเบีย คนงานทั้งหมดซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกถูกลักพาตัวไปจากเมืองเซอร์เต เมืองชายทะเลในลิเบียเมื่อเดือนธันวาคมและมกราคมที่ผ่านมา วิธีการสังหารตัวประกันของไอเอสไม่ต่างไปจากวิธีการก่อนหน้านี้ ไอเอสให้ตัวประกันสวมชุดสีส้มมือไขว้หลัง ขณะที่นักรบไอเอสใส่ชุดสีดำ จากนั้นไอเอสให้นักรบของตนฆ่าตัดหัวตัวประกันอย่างโหดเหี้ยม

คลิปวิดีโอนี้ออกมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไอเอสเผยแพร่วิดีโอสังหารนักบินชาวจอร์แดนไม่ถึงสองสัปดาห์ดี ในครั้งนั้นไอเอสสังหารร้อยโทโมอาซ อัล-คาสซาเบห์ โดยขังในกรงและเผาทั้งเป็น ร.ท. อัล- คาสซาเบห์ เป็นนักบินขับเครื่องบินรบเอฟ 16 ของจอร์แดน ถูกไอเอสจับเป็นตัวประกันหลังจากที่เครื่องบินของเขาตกในพื้นที่ยึดครองของไอเอสในซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม

คลิปวิดีโอการสังหารตัวประกันที่ไอเอสเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ล้วนเป็นการตัดคอ ซึ่งรวมถึงตัวประกันชาวญี่ปุ่นสองคน แต่การสังหารนักบินชาวจอร์แดนเป็นวิธีการที่อำมหิตและโหดเหี้ยมมาก

เรื่องนี้ คุณชิราซ มาเฮอร์ นักวิจัยที่ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษากระบวนการเกิดแนวคิดสุดโต่ง คิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอนชี้ว่า  การเผาเป็นกลยุทธ์ในการคานอำนาจของไอเอส ที่ไอเอสต้องการให้ตกตะลึง สะเทือนใจ และหวาดกลัว ไอเอสต้องการดึงความสนใจจากคนทั้งโลก

คุณชิราชชี้ต่อไปว่า  ไอเอสนั้นเชื่อในหลักการ  กิศ็อศ  ตามหลักกฎหมายอิสลาม ซึ่งมีนัยยะคล้าย ๆ กับเรื่องตาต่อตาฟันต่อฟัน นักบินชาวจอร์แดนสู้รบกับไอเอสในนามของพันธมิตรชาติตะวันตก ทิ้งระเบิดถล่มที่มั่นไอเอส ดังนั้นการตอบโต้ด้วยการเผาทั้งเป็นจึงเป็นวิธีการที่สาสมที่สุด ไอเอสไม่เคยแสดงเจตจำนงว่าจะปล่อยนักบินผู้นี้เลย ยิ่งกว่านั้นยังเคยพยายามรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่าควรสังหารร้อยโทผู้นี้ด้วยวิธีไหน

                  ไอเอสรู้ดีว่าพันธมิตรชาติตะวันตกที่ตนกำลังสู้รบด้วยนั้นมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพมหาศาล ที่ไอเอสไม่สามารถเทียบเท่าได้ แต่ไอเอสสามารถทำให้ผู้คนหวาดกลัวและตกตะลึงได้ การแสดงความอำมหิต โหดเหี้ยมกับตัวประกันให้ชาวโลกได้เห็นคืออาวุธที่ทรงพลังของไอเอส

 

ไอเอสทำได้สำเร็จเสียด้วย หลังจากที่คลิปวิดีโอนี้เผยแพร่ออกมายังไม่ทันถึงชั่วโมงดี ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาประณามทันที กษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดนที่ขณะนั้นประทับอยู่ในสหรัฐฯ รีบเสด็จกลับจอร์แดน จากนั้นได้ส่งเครื่องบินรบไปถล่มที่มั่นของไอเอสในซีเรีย ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศหนึ่งที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับกองกำลังที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำขอถอนตัวจากการร่วมเป็นพันธมิตร โดยอ้างว่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักบินของตน กรณีการสังหารคนงานชาวอียิปต์ในลิเบีย ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ผู้นำอียิปต์ ตอบโต้ด้วยวิธีการที่ไม่ต่างไปจากวิธีการของจอร์แดน โดยส่งเครื่องบินไปถล่มที่มั่นของไอเอสในลิเบีย

ข่าวแจ้งต่อมาว่าว่า คุณมาริโอ อาเบา เซอิด นักวิเคราะห์ที่ศูนย์คาร์เนกี้ตะวันออกกลาง ในกรุงเบรุต เลบานอน ชี้ว่า การตัดหัวเป็นวิธีทีไอเอสนิยมใช้ในการสังหารตัวประกัน และแต่การเผาทั้งเป็นที่ไอเอสนำมาใช้กับนักบินจอร์แดนเป็นวิธีการที่ไอเอสต้องการแสดงให้เห็นถึงความน่าเกรงขามในพลังอำนาจของตน เป็นการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับกลุ่มและเพื่อขยายฐานอำนาจ

ตัวประกันหรือนักโทษที่เป็นทหารเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับไอเอสเมื่อเปรียบเทียบกับตัวประกันที่เป็นพลเรือน สำหรับกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ตัวประกันที่ยังคงมีชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะสามารถใช้ต่อรองเพื่อแลกกับเงินค่าไถ่ หรือแลกเปลี่ยนกับบุคคลที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการ แต่สำหรับไอเอสในขณะนี้ การสังหารตัวประกันเป็นเรื่องที่ไอเอสได้ประโยชน์มากกว่า

คุณมาริโอ อาเบา เซอิด ชี้อีกาการที่ไอเอสได้ตัวนักบินชาวจอร์แดนไปถือเป็นจุดเปลี่ยนในวิธีการที่ไอเอสจัดการกับตัวประกันของตน ทั้งยังเป็นการส่งสารให้กับชาติอาหรับที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในปฏิบัติการสู้รบกับไอเอส ช่วงแรกๆ ไอเอสก็ไม่ต่างไปจากกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้การจับตัวประกันเพื่อเป็นยุทธวิธีในการหาเงินเข้ากลุ่มหรือไม่ก็สำหรับการแลกเปลี่ยนนักโทษ รวมทั้งเพื่อสร้างความหวาดหวั่นให้กับประชาชน เพื่อให้คนทำตามกฎที่ไอเอสตั้งขึ้น นี่เป็นยุทธวิธีในการทำสงครามด้านจิตวิทยาเพื่อให้ไอเอสสามารถควบคุมพื้นที่ที่กว้างขวางระหว่างอิรักกับซีเรียได้ โดยที่ไม่มีใครหรือกลุ่มไหนกล้าลุกขึ้นมาต่อต้าน

แต่หลังจากที่กลุ่มไอเอสได้มีการขยายตัวมากขึ้น ไอเอสก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของคน ไอเอสไม่เพียงแต่ตัวหัวตัวประกันเท่านั้น แต่ยังมีการถ่ายวิดีโอการสังหารและโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้เพราะไอเอสต้องการบรรลุเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกและเพื่อดึงดูดนักรบร่วมอุดมการณ์เข้ามาเป็นพรรคพวก

ตัวประกันได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม การสังหารตัวประกันชาวอเมริกันสองคนเมื่อปีที่แล้ว เจมส์ โฟเลย์กับสตีเวน ซอตลอฟฟ์ ส่งผลให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงและร่วมรบกับไอเอส การทำสงครามของสหรัฐฯ กับไอเอส เท่ากับเป็นหาสมัครพรรคพวกเพิ่มให้กับไอเอส รวมทั้งทำให้คนอิรักที่นับถือนิกายสุหนี่เห็นอกเห็นใจไอเอสเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ไอเอสสามารถครองอำนาจสูงสุดเหนือกลุ่มสุดโต่งกลุ่มอื่น ๆ

การได้ตัวประกันจากหลายชาติไป ทั้งตัวประกันที่เป็นพลเรือนและทหาร ทำให้ไอเอสได้เรียนรู้กลวิธีจัดการกับตัวประกันของตนอย่างเป็นระบบ   ข้อแรกไอเอสจัดระดับสถานภาพตัวประกันตามสัญชาติ เช่น ชาติตะวันตก ไม่ใช่ชาติตะวันตก ไม่ใช่อาหรับหรืออาหรับ ข้อสอง ตามหน้าที่การงานของตัวประกันว่าเป็นพลเรือนหรือทหาร และสุดท้ายผลกระทบในกรณีสังหาร ดังนั้นตัวประกันหรือนักโทษที่ไอเอสมองว่ามีความสำคัญน้อยมักถูกฆ่าทันทีตั้งแต่ตอนอยู่ในสนามรบแล้ว เช่น กลุ่มต่างศาสนาหรือชนกลุ่มน้อย ที่ไม่สนับสนุนไอเอส

หากเป็นตัวประกันที่ร่ำรวยไอเอสจะเก็บไว้เพื่อต่อรองเงินค่าไถ่ ส่วนทหารชาติตะวันตก ทหารที่ไม่ใช่ชาติอาหรับ ผู้สื่อข่าว และคนต่างชาติ หากถูกไอเอสจับเป็นตัวประกัน ไอเอสจะเก็บพวกเขาไว้เพื่อจัดการสังหารต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้เพื่อกดดันชาติที่คนของตนตกเป็นตัวประกัน เช่น ในกรณีตัวประกันชาวญี่ปุ่น ที่ในตอนแรกไอเอสเรียกเงินประมาณ 6,400 ล้านบาทจากรัฐบาลญี่ปุ่น หากเป็นตัวประกันเป็นทหารชาติอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารจากประเทศที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ พวกเขาจะถูกสังหารอย่างทารุณโหดเหี้ยมต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่ ฐานเป็นผู้ทรยศต่อรัฐอิสลาม ไอเอสมีหลักการที่สำคัญเรื่องหนึ่งว่าจะไม่มีทหารชาติอาหรับคนไหนที่ถูกจับแล้ว จะได้รับการแลกเปลี่ยนโดยที่ยังมีลมหายใจอยู่

รายงานสรุปในตอนท้ายว่า ไอเอสเอส ไม่เหมอนตาลีบัน เพราะไม่ได้เข้าไปยึดครองประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรง เพียงแต่ไปยึดพื้นที่บางส่วนซ่องสุมกำลังของตนเอง การที่โลกเสรีหรือโลกตะวันตกจะปราบปรามก็ทำในลักษณะ แก้แค้น ที่ไอเอสเอส ทำกับพลเมืองผู้บริสุทฺธิ์เท่านั้น    ไม่ได้มุ่งปราบปรามเพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองแบบตาลีบันที่ยึดครองอาฟกานิสสถาน แล้วพันธมิตรที่มีอเมริกานำหน้าไปชิงอำนาจคืนให้อาฟกานิสสถาน ดังนั้นการจะดำเนินการด้วยวิธีใดกับไอเอสเอส  จึงเป็นเรื่องกวนใจของประเทศในโลกเสรีและพันธมิตร หรือสำนวนไทยโบราณเรียกว่า หอกข้างแคร่ และก็จะต้องทำกันต่อไป    ไอเอสเอสก็  จะก่อกวนโลกต่อไปด้วยวิธีนี้ คือแอบไปจับตัวประกันมา ได้แล้วก็เอามาฆ่าข่มขวัญชาวโลกไปเรื่อยๆ พันธมิตรก็ต้องตามล้าง ตามผลาญแก้แค้นไปเรื่อยๆ จะประกศสงครามใหญ่ก็ยังไม่มีความชอบธรรมพอ

                       จึงเป็นเรื่องน่าเวียนหัวเสียนี่กระไร และจะต้องเวียนหัวไปอีกนาน

 

อรุณ ช้างขวัญยืน /รายงาน